การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)

ข่าวการเมือง Tuesday July 12, 2016 18:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนฯ

2. ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนการจัดตั้งกองทุนฯ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนฯ ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดมูลค่าที่แท้จริงของโครงการ และมีการกำหนดเงื่อนไขการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและกองทุนฯ เพื่อให้การดำเนินการออกขายหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลทั่วไปสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนฯ แล้ว และสามารถดำเนินการได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 8/2559 ข้อ 13 ที่กำหนดให้บริษัทจัดการต้องเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนกองทุนรวม โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 75 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม

สาระสำคัญของลักษณะกองทุนฯ ที่ปรับปรุงจากหลักเกณฑ์เดิมที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้เมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 2558 มีดังนี้

โครงสร้าง/รายละเอียด

เดิม - ปรับปรุงใหม่

ชื่อโครงการ

เดิม

  • ทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย

ปรับปรุงใหม่

  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศ ทน. ที่ ทน. 8/59)

ประเภท

เดิม

  • กองทุนปิด (ไม่จำกัดอายุของกองทุนฯ) ที่จัดตั้งภายใต้ประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และจดทะเบียนใน ตลท.

ปรับปรุงใหม่

-ไม่เปลี่ยนแปลง-

จำนวนเงินกองทุนฯ

เดิม

  • มีมูลค่าการระดมทุนที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท และสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต

ปรับปรุงใหม่

-ไม่เปลี่ยนแปลง-

วัตถุประสงค์

เดิม

  • ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (Greenfield Projects) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม (Brownfield Projects)
  • ลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อเสริมสภาพคล่องและความมั่นคงของกองทุนฯ รวมทั้งสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุนฯ

ปรับปรุงใหม่

-ไม่เปลี่ยนแปลง-

แหล่งเงินทุน

เดิม

ระยะแรก

  • ใช้เงินและ / หรือหลักทรัพย์จากกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง และ/หรือ กค. สำหรับการจัดตั้งกองทุนฯ มูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท

ระยะต่อไป

  • เงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งนักลงทุนรายย่อยผ่านการจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ
  • เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ปรับปรุงใหม่

ระยะแรก

  • กค. ลงทุนแต่เพียงรายเดียว วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศ ทน. ที่ ทน. 8/59) ดังนี้

1. ใช้เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน ประเภท ข. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จำนวน 1,000 ล้านบาท

2. ใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์หรือนำหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ไปชำระราคาค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน ฯ (Pay in Kind) จำนวน 9,000 ล้านบาท

ระยะต่อไป

-ไม่เปลี่ยนแปลง-

ผู้ถือหน่วยลงทุน

เดิม

  • กค. และนักลงทุนภาครัฐ เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และรัฐวิสาหกิจนักลงทุนสถาบันนักลงทุนรายย่อย

ปรับปรุงใหม่

-ไม่เปลี่ยนแปลง-

การรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ

เดิม

  • รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อประกันผลตอบแทนขั้นต่ำในกรณีที่ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่กำหนด

ปรับปรุงใหม่

  • กำหนดให้มีกองทุนหมุนเวียนเพื่อเป็นกลไกในการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กรกฏาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ