การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)

ข่าวการเมือง Tuesday August 8, 2017 17:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) อีกวาระหนึ่ง (ปี ค.ศ. 2018-2022)

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการขอเสียง/แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ ITU ในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งวสมาชิกสภาบริหารของประเทศไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

ดศ. รายงานว่า

1. ITU เป็นทบวงการชำนัญพิเศษภายใต้สหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นที่ปรุงปารีสในปี 2408

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาและปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านโทรคมนาคมแก่ประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก (Member States) รวม 193 ประเทศ และมีสมาชิกภาคและสมาชิกสมทบ (Sector Member and Associates) เกือบ 800 องค์กร โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และมีสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ ITU โดยมีสภาบริหาร (Council) เป็นองค์กรบริหารของ ITU ทำหน้าที่ในนามที่ประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ จำนวน 48 ประเทศ (ที่นั่ง) ประเทศละ 1 ที่นั่ง แบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ อเมริกา (9 ที่นั่ง) ยุโรปตะวันตก (8 ที่นั่ง) ยุโรปตะวันออกและเอเชียเหนือ (5 ที่นั่ง) แอฟริกา (13 ที่นั่ง) และเอเชียและออสตราเลเซีย (13 ที่นั่ง) มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยสภาบริหารมีหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายและวางแผนงาน ด้านโทรคมนาคม รวมถึงการบริหารงานของ ITU ประสานงานในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของ ITU ควบคุมดูแลและบริหารการเงิน รวมทั้งทรัพยากรบุคคลจัดสรรความช่วยเหลือให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ประเทศสมาชิกในการบังคับใช้ข้อกำหนดต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญ อนุสัญญา และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของ ITU โดยจะมีการประชุมสภาบริหารเป็นประจำทุกปี

2. ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหารของ ITU ครั้งแรกเมื่อปี 2516 และได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหารติดต่อกันมา 9 สมัย โดยครั้งล่าสุดได้มีการเลือกตั้งในระหว่างการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี 2557 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2557 - 2561 (ค.ศ. 2014 - 2018)

3. ที่ผ่านมา ดศ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กต. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกันในการขอเสียงและหาเสียงสนับสนุน โดยการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของ ITU การแสดงความคิดเห็นในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ การขอเสียง/แลกเสียงผ่านช่องทางการทูตซึ่งดำเนินการโดย กต. และการขอเสียง/แลกเสียงในระดับกระทรวง โดยในทางปฏิบัติ ที่ผ่านมากระบวนการในการเตรียมการหาเสียงจะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ดังกล่าวไม่มีการจัดทำสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่มีการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. การสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวไม่ขัดกับกฎหมายไทยและไม่ต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมหรือแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับภายในประเทศเพื่อดำเนินการดังกล่าว และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และปรับปรุงกิจการโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้าและทันสมัยเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศอันจะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคม ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 สิงหาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ