ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)

ข่าวการเมือง Tuesday August 22, 2017 16:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ดังนี้

1. ภาพรวม : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีประชากร 1 ใน 3 ของ

ประเทศ แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียง 1 ใน 10 ของประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดของปัจจัยพื้นฐานทั้งด้านน้ำและคุณภาพดิน ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพและรายได้จากการทำการเกษตรต้องประสบปัญหาความยากจนจึงขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา ส่งผลทำให้ติดกับดักอยู่ในวงจรของความยากจนไม่สามารถหลุดพ้นได้

2. ปัญหาและประเด็นท้าทาย : ที่สำคัญได้แก่ การขาดแคลนน้ำทั่วทั้งภาคและประสบปัญหา

ภัยแล้งซ้ำซาก มีคนจนจำนวนมาก มีปัญหาไอคิวต่ำในเด็ก และมีปัญหาโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี เศรษฐกิจของภาคมีขนาดเล็กและมีอัตราการขยายตัวต่ำ ภาคการผลิตหลักด้านเกษตรยังพึ่งพาธรรมชาติจึงมีผลิตภาพต่ำ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปเกษตรขั้นต้น มีมูลค่าเพิ่มต่ำ การลงทุนใหม่ ๆ มีน้อย การค้าชายแดนเป็นการส่งสินค้าออกที่ผลิตจากนอกภาค ทรัพยากรการท่องเที่ยวยังเข้าถึงได้ยากและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก

3. ศักยภาพและโอกาส : การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต่อไป มีศักยภาพและ

โอกาสที่เด่นชัดจากการมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ มีประชากรวัยแรงงานมาก มีมหาวิทยาลัยวิจัยตั้งอยู่ในพื้นที่ 12 แห่ง ซึ่งมีความสามารถเฉพาะทางที่โดดเด่น อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความเก่งด้านสาธารณสุขและเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเก่งด้านวิศวกรรมศาสตร์และแปรรูปอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนครเก่งด้านเกษตรและประมง รวมทั้งการมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศสู่ภาค อาทิ โครงข่ายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่มีการจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

4. แนวคิดและทิศทาง : การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานควบคู่ไปกับการพัฒนาการวิจัยเพื่อใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในภาคให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งใช้โอกาสจากปัจจัยภายนอกมาช่วยขับเคลื่อนโดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งและพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างกิจกรรมการพัฒนาใหม่ ๆ ให้แก่ภาคเพื่อให้มีอัตราการเติบโตที่สูงเพียงพอต่อการลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้ในระยะยาว โดยมุ่งพัฒนาอีสานสู่มิติใหม่เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการพัฒนา และข้อเสนอแผนงงาน/โครงการเบื้องต้น ดังนี้

4.1 วัตถุประสงค์

(1) เพื่อแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานด้านน้ำและดิน ให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีพ และการพัฒนาเศรษฐกิจของภาค

(2) เพื่อดูแลช่วยเหลือคนจน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเอง พึ่งพาครอบครัว และพึ่งพากันในชุมชนได้

(3) เพื่อยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคไม่ต่ำกว่าระดับประเทศ

(4) เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าของระบบเศรษฐกิจภาคเข้ากับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(5) เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีบทบาทสนับสนุนประเทศเป็นศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.2 เป้าหมายและตัวชี้วัด

(1) พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งลดลง พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น ปริมาณกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น

(2) สัดส่วนคนจนลดลง

(3) อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าระดับประเทศ

(4) มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น

(5) รายได้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

4.3 แนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง

(1) บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำเดิมและแหล่งน้ำธรรมชาติ การสร้างอ่างเก็บน้ำฝาย และแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับไร่นา พัฒนาระบบกระจายน้ำ เช่น อาคารบังคับน้ำ ระบบสูบน้ำ คลองส่งน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในลุ่มน้ำเลย ชี มูล

(2) แก้ปัญาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ พัฒนาอาชีพและรายได้ของคนยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส แก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี พัฒนาโภชนาการแม่และเด็ก

(3) สร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเร่งพัฒนาการศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ การเพิ่มศักยภาพ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ขยายการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมคุณภาพสูง พัฒนา Food Velley เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรที่จังหวัดนครราชสีมา ยกระดับการผลิตผ้าไหมและผ้าฝ้ายย้อมครามสู่สินค้าแฟชั่น เสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจ SMEs และวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยววัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและการกีฬาสู่นานาชาติ

(4) ใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักในภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ของภาค โดยเร่งพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ – หนองคาย รถไฟทางคู่บ้านไผ่ – นครพนม ทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองบางปะอิน – นครราชสีมา และนครราชสีมา – ขอนแก่น พัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ รอบสถานีขนส่งระบบรางที่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปรับปรุงสนามบินอุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น

(5) พัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาด่าน CIQ ให้ได้ มาตรฐานสากล ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน พัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร นครพนม หนองคาย ให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีระบบบริการพิธีการผ่านแดนแบบ One – Stop Service

5. แผนงาน/โครงการ : กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนงาน/โครงการเบื้องต้นในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) สรุปได้ ดังนี้

(1) การบริหารจัดการน้ำ โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทาน ระบบการกระจายน้ำเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้ง พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ จำนวน 543,948 ไร่ ประชาชน 542,057 ครัวเรือน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเกบอีก 3,763 ล้านลูกบาศก์เมตรและพื้นที่รับประโยชน์ 10.2 ล้านไร่

(2) การแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจัดหาที่ดินทำกินให้คนจนฝึกอาชีพสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับคนจน จัดสวัสดิการผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคง

(3) การพัฒนาด้านการเกษตร โดยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าเกษตรชนิดใหม่ตามศักยภาพของพื้นที่ ยกระดับคุณภาพสินค้า พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,076,009 ไร่ เกษตรกร 171,472 ราย

(4) การขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสู่ชุมชนโดยติดตั้งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย งบประมาณ 13,760 ล้านบาท ครอบคลุม 20 จังหวัด

(5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ รถไฟความเร็วสูงไทยจีน กทม. – นครราชสีมา – หนองคาย โครงข่ายรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชานี ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ช่วงอุบลราชานี – มุกดาหาร และช่วงบ้านไผ่ – นครพนม ก่อสร้างขุดพักรถบรรทุกโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร และ นครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 183 กิโลเมตร พัฒนาท่าอากาศยาน จำนวน 6 แห่ง อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ขยายลานจอดและทางวิ่ง

ทั้งนี้แผนงาน/โครงการยังเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นที่จะนำไปจัดทำเป็นแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบบูรณาการที่สมบูรณ์ ภายใต้กระบวนการและกลไกการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการ ระดับภาค 6 ภาค ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 สิงหาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ