ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซม ครั้งที่ 7

ข่าวการเมือง Tuesday September 19, 2017 16:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการต่อ

(1) ร่างแถลงการณ์ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซม ครั้งที่ 7 (The 7th ASEM Economic Ministers’ Meeting-7th ASEM EMM) เพื่อสนับสนุนระบบการค้าพหุพาคี

(2) ร่างเอกสารสรุปผลการประชุม ASEM EMM ครั้งที่ 7 ของประธาน และ

(3) ร่างเอกสารข้อริเริ่มของที่ประชุม ASEM EMM ครั้งที่ 7 ด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4

2. หากมีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ พณ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ASEM EMM ครั้งที่ 7 สาระสำคัญของเรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียและยุโรป โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎมาย ซึ่งเอกสารทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญดังนี้

ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ

สาระสำคัญ

1. ร่างแถลงการณ์ที่ประชุม ASEM EMM ครั้งที่ 7 เพื่อสนับสนุนระบบการค้าพหุพาคี

  • ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของระบบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)
  • การยอมรับความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ WTO เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ การส่งเสริมความโปร่งใส และการสนับสนุนโอกาสของธุรกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลางในการเข้าถึงห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก
  • การต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้า
  • การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) และ WTO เพื่อวิเคราะห์แนวทางและผลกระทบทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น
  • การส่งเสริมศักยภาพและความโปร่งใสให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
  • การผลักดันความสำเร็จของการประชุม WTO Ministerial Conference ครั้งที่ 11 (MC11) ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในเดือนธันวาคม 2560

2. ร่างเอกสารสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซม ครั้งที่ 7 ของประธาน (ดร. แพค อุนกยู รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธาน)

  • การส่งเสริมระบบการพหุภาคี และให้ความสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น การค้าดิจิทัล การค้าสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าและการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการส่งเสริมการลงทุนและการกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์
  • การสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียและยุโรป โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงและการค้าในสาขาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • การเติบโตที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วม เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพื้นฐาน) เสริมสร้างความร่วมมือด้านแรงงาน การปฏิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทบาทของธุรกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง
  • การดำเนินการด้านการประชุมภายใต้อาเซม โดยเห็นพ้องร่วมกันในการจัดการประชุม ASEM EMM อย่างสม่ำเสมอ

3. ร่างเอกสารข้อริเริ่มของที่ประชุม ASEM EMM ครั้งที่ 7 ด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 (การเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่)

  • สนับสนุนหลักการและความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซมเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านกฎระเบียบที่รองรับนวัตกรรมยุคใหม่ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การส่งเสริมความช่วยเหลือแก่ธุรกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง การส่งเสริมความร่วมมือด้าน R&D และการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล
  • ประเทศสมาชิกอาเซมต้องการให้มีการยกประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ในทุกวาระของการประชุม ASEM EMM เพื่อให้มีการทบทวนความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กันยายน 2560--


แท็ก รัฐมนตรี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ