การขยายปริมาณการจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปสำหรับให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร

ข่าวการเมือง Tuesday November 6, 2018 18:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขยายปริมาณการจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปสำหรับให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการขยายปริมาณการจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (EU) ให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และ ข้าวที่มีการปฏิบัติตามระบบการเกษตรที่ดี (GAP) ครบวงจร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร

กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และ กษ. ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และ ข้าว GAP ครบวงจร ปี 2560/61 โดย พณ. ได้จัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปให้กับโครงการจำนวน 2,000 ตัน (ร้อยละ 10 ของปริมาณโควตาทั้งหมด) สำหรับเป็นแรงจูงใจ (Incentive) ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์กับกลุ่มเกษตรกรมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

ผู้ประกอบการค้าข้าว จำนวน 28 ราย ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าว (MOU) และรับ

ซื้อข้าวจากเกษตรกร ดังนี้

จำนวน-ประเภทข้าว / เกษตรกร(กลุ่ม) / ปริมาณข้าวเปลือก(ตัน)

ข้าวอินทรย์ / 60 / 1,716.32

ข้าว GAP / 14 / 4,975.15

รวม / 74 / 6,691.47

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการค้าข้าว จำนวน 9 ราย ได้รับการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ปริมาณ 2,000 ตัน โดยส่งออกข้าวปริมาณ 1,962.36 ตัน (ร้อยละ 98) คงเหลือ 37.64 ตัน ซึ่งปริมาณคงเหลือจะนำไปรวมเป็นโควตากองกลางสำหรับการจัดสรรต่อไป

2. การพิจารณาการขยายปริมาณการจัดสรรโควตา

กษ. ได้แบ่งชนิดของข้าวในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ออกเป็น 3 ชนิด ซึ่งจะมี

ปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

             ชนิดข้าว                                   ปี 60       ปี 61       ปี 62       ปี 63      ปี 64         รวม
             1. ข้าวที่ผ่านการเตรียมความพร้อม (T1)        56,000     85,000     80,000          -          -    221,000
             2. ข้าวที่ผ่านระยะปรับเปลี่ยนแล้ว (T2)          4,000     65,000     95,000     90,000          -    254,000
             3. ข้าวที่ได้การรับรองมาตรฐานอินทรีย์ (T3)          -      4,000     73,000    175,000    270,000    522,000
             รวม                                    60,000    154,000    248,000    265,000    270,000    997,000

จากตารางจะเห็นว่าข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 2561 – 2564 จะมีปริมาณรวมสูงถึง 997,000 ตันข้าวเปลือก ดังนั้น เพื่อให้ปริมาณข้าวอินทรีย์มีตลาดรองรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น กษ. จึงได้ขอขยายปริมาณการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จากเดิมร้อยละ 10 (2,000 ตัน) ของปริมาณโควตาทั้งหมด เป็นร้อยละ 25 (5,000 ตัน) ของปริมาณโควตาทั้งหมด ภายในปี 2564 เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่อยู่ในโควตาร้อยละ 10 แรก สามารถส่งออกข้าวชนิดใดก็ได้ตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป ส่วนผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่อยู่ในโควตาที่เกินร้อยละ 10 จะต้องใช้โควตาเพื่อการส่งออกข้าวอินทรีย์ที่ได้การรับรองมาตรฐาน Organic Thailand หรือได้มาตรฐานข้าวอินทรีย์ของประเทศปลายทางเท่านั้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และเป้าหมายโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปี 2560/61 และเห็นชอบการขยายปริมาณการจัดสรรโควตาดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้ พณ. ร่วมกับ กษ. พิจารณาสัดส่วนโควตาที่เหมาะสมตามการประเมินผลผลิตข้าวในโครงการของ กษ. และสถิติการส่งออกข้าวที่ พณ. ประมวลได้เป็นรายปีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ