การขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีกระบวนการโคลัมโบ ครั้งที่ 6

ข่าวการเมือง Tuesday November 20, 2018 18:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของรัฐมนตรีแรงงานกระบวนการโคลัมโบทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างปฏิญญากระบวนการโคลัมโบระดับรัฐมนตรี (Colombo Process Ministerial Declaration) 2) ร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานกระบวนการโคลัมโบ (Concept note on formation of a CP Coordination Committee : CP CC) และ 3) ร่างประเด็นสาระสำคัญเพื่อข้อตกลงระดับ ทวิภาคีด้านแรงงาน (Essential elements for a bilateral labour agreement) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารผลลัพธ์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวสรุป ดังนี้

1. ร่างปฏิญญากระบวนการโคลัมโบระดับรัฐมนตรี (Colombo Process Ministerial Declaration) ประกอบด้วย

1) ความคืบหน้าการดำเนินงานของประเด็นหลักความร่วมมือใน 5 สาขาภายใต้กระบวนการโคลัมโบ และการดำเนินงานต่อไป ซึ่งได้แก่

ก. กระบวนการยอมรับทักษะฝีมือและคุณวุฒิ ซึ่งมีจีน อัฟกานิสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย และปากีสถานเป็นสมาชิก โดยศรีลังกาทำหน้าที่ประธาน

ข. การจัดให้มีการจัดหางานที่มีจริยธรรม ซึ่งมีเนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนามเป็นสมาชิก โดยบังกลาเทศทำหน้าที่ประธาน

ค. การอบรมก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศและการเสริมสร้างความเข้มแข็งซึ่งมีบังกลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา และเวียดนามเป็นสมาชิก โดยฟิลิปปินส์เป็นประธาน

ง. การส่งเสริมเรื่องการส่งเงินกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายใน การส่งเงินกลับ ซึ่งมีบังกลาเทศ เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเวียดนามเป็นสมาชิก โดยปากีสถานเป็นประธาน

จ. การวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ซึ่งมีอัฟกานิสถาน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นสมาชิก โดยไทยเป็นประธาน

รวมถึงประเด็นหลักความร่วมมือในอีก 4 สาขาเพิ่มเติม ได้แก่ สุขภาพและการโยกย้ายถิ่นฐาน การปฏิบัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐาน การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานหญิง และการสนับสนุนแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานของกงสุล

2) การพิจารณารับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยเป็นระเบียบและปกติ ซึ่งเป็นกรอบแผนงานเพื่อบริหารจัดการเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration: GCM) โดยเฉพาะในประเด็นที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานภายใต้ประเด็นหลักความร่วมมือข้างต้น

3) สนับสนุนการทำงานของ Colombo Process Technical Support Unit (CPTSU) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานประเด็นหลักความร่วมมือทั้ง 5 สาขา

4) ส่งเสริมความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับประเทศผู้ส่งและเวทีการเจรจาหารืออื่น รวมถึงการเจรจาหารืออาบูดาบี และสหภาพยุโรป ฯลฯ

2. ร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานกระบวนการโคลัมโบ (Concept note on formation of a CP Coordination Committee : CP CC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประสานงานที่สอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพของ Thematic Working Group (TAWG) ทั้ง 5 คณะ (ได้แก่ กระบวนการยอมรับทักษะฝีมือและคุณวุฒิ การจัดให้มีการจัดหางานที่มีจริยธรรม การอบรมก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศและการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การส่งเสริมเรื่องการส่งเงินกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับและการวิเคราะห์ตลาดแรงงาน) เพื่อให้การโยกย้ายถิ่นฐานด้านแรงงานเกิดประโยชน์ทั้งประเทศผู้ส่งและผู้รับแรงงาน

3. ร่างประเด็นสาระสำคัญเพื่อข้อตกลงระดับทวิภาคีด้านแรงงาน (Essential elements for a bilateral labour agreement) เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกกระบวนการโคลัมโบ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งแรงงานในการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีด้านการจัดส่งแรงงานกับประเทศผู้รับแรงงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการโยกย้ายด้านแรงงานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบและเป็นปกติ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ