การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ

ข่าวการเมือง Tuesday May 28, 2019 18:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 (เรื่อง การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) เพื่อให้สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. (กรมธนารักษ์) รายงานว่า

1. สำนักกษาปณ์เป็นหน่วยงานสังกัดกรมธนารักษ์ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กค. พ.ศ. 2557 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และจัดทำเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องหมายตอบแทน และของสั่งจ้าง ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการยุบ การหลอม การทำลาย และการล้างตัวของเหรียญกษาปณ์ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการติดตั้ง ซ่อมแซมประตูห้องมั่นคง และซ่อมแซมกุญแจตู้นิรภัย ของส่วนราชการ ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการงบประมาณของเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย โดยในปี พ.ศ. 2514 กรมธนารักษ์ได้จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของขึ้นเพื่อให้สำนักกษาปณ์สามารถทำการผลิตเหรียญกษาปณ์ได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพและช่วยลดภาระของรัฐในด้านงบประมาณประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้หมุนเวียนให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และในปี 2520 ได้จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาและรวบรวมสะสมเงินตราสมัย ต่าง ๆ เหรียญกษาปณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งสำนักกษาปณ์ได้ดำเนินการบริหารจัดการผ่านกลไกของเงินทุนหมุนเวียน และต่อมาเงินทุนหมุนเวียนทั้งสองได้รวมเข้าด้วยกันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เพื่อให้เกิดการบูรณาการกระบวนงานเกี่ยวกับการผลิตและจัดหาเหรียญกษาปณ์ไทยทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันทำให้การบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์มีความคล่องตัวทั้งระบบ

2. อย่างไรก็ดี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติ (20 มกราคม 2547) เห็นชอบในหลักการให้สำนักกษาปณ์เป็นหน่วยงานทดลองปฏิบัติการจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ได้มีการเตรียมความพร้อม โดยจัดทำแผนปฏิบัติราชการเพื่อปรับเปลี่ยนสำนักกษาปณ์เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษและแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโรงกษาปณ์ที่มีผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักกษาปณ์เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินการในภาพรวม เช่น การเตรียมถ่ายโอน ออกแบบระบบการกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ การจัดโครงสร้าง อัตรากำลัง และการจัดวางระบบบริหารจัดการแนวใหม่ เป็นต้น และได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ได้ดำเนินการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์เพื่อจัดวางระบบบริหารหน่วยบริการรูปแบบพิเศษของสำนักกษาปณ์ ซึ่งพบว่ามีข้อสังเกตที่สำคัญและอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดวางระบบบริหารหน่วยบริการรูปแบบพิเศษของสำนักกษาปณ์ในส่วนของการบริหารงานบุคคลด้านการพัสดุ ด้านการเงินและงบประมาณ โดยได้แจ้งให้ กค. ทราบพร้อมแจ้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณา แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำประเด็นปัญหาเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการกำหนดหลักการจัดและพัฒนาโครงสร้างระบบราชการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ซึ่งผลการพิจารณาเกี่ยวกับการพัสดุและการงบประมาณยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด

3. ต่อมากรมธนารักษ์ร่วมกับมูลนิธิสถาบันธนารักษ์ศึกษาและศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมในการบริหารงานของสำนักกษาปณ์ โดยผลการศึกษาสรุปได้ว่าหลักการของการเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไม่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงานของสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งมีลักษณะการให้บริการเชิงธุรกิจและอาจนำไปสู่การแข่งขันกับภาคเอกชนซึ่งขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 ดังนั้น รูปแบบการบริหารที่เหมาะสมกับภารกิจในปัจจุบันยังคงเป็นรูปแบบหน่วยงานราชการสังกัดกรมธนารักษ์ แต่ควรพิจารณาใช้จุดแข็งของระเบียบเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ พ.ศ. 2546 (ต่อมามีการยุบรวมกับเงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 และออกเป็นข้อบังคับคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ พ.ศ. 2560) ในการออกระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพัสดุและการก่อหนี้ผูกพันเพื่อให้เกิด ความคล่องตัวในการบริหาร ซึ่งข้อเสนอจากการผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินงานของสำนักกษาปณ์ในปัจจุบันที่มีการดำเนินงานในรูปแบบส่วนราชการโดยทุนหมุนเวียนมาโดยตลอดตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาโดยตลอด และสำนักกษาปณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบ แนวทางการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลของกฎหมายการบริหารทุนหมุนเวียน

4. ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 เรื่อง การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) ของสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เพื่อที่กรมธนารักษ์จะได้เร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเหรียญกษาปณ์ให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบเศรษฐกิจ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเหรียญกษาปณ์ระดับสากล ซึ่งกรมธนารักษ์ได้เคยเสนอเรื่องดังกล่าวมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเสนอ ก.พ.ร. พิจารณาก่อน และให้นำผลการพิจารณาของ ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ต่อมาเป็นอำนาจของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (ก.พ.ม.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2560) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้กรมธนารักษ์เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามนัยข้อ 19 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 และต่อมากรมธนารักษ์ได้เสนอเรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรมธนารักษ์ กค. โดยในประเด็นการขอยกเลิกในส่วนที่กำหนดให้ สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานทดลองปฏิบัติการจัดโครงสร้างองค์กรเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษนั้น ก.พ.ม. ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้ กค. เสนอขอทบทวน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 แล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ