ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 14 ฉบับ

ข่าวการเมือง Tuesday June 4, 2019 17:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 14 ฉบับ ประกอบด้วย

1.1 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำสาละวิน พ.ศ. ....

1.2 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำปิง พ.ศ. ....

1.3 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำวัง พ.ศ. ....

1.4 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำยม พ.ศ. ....

1.5 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำน่าน พ.ศ. ....

1.6 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำโขงเหนือ พ.ศ. ....

1.7 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำเจ้าพระยา พ.ศ. ....

1.8 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำป่าสัก พ.ศ. ....

1.9 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำบางปะกง พ.ศ. ....

1.10 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำโตนเลสาป พ.ศ. ....

1.11 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำแม่กลอง พ.ศ. ....

1.12 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ....

1.13 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำชี พ.ศ. ....

1.14 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำมูล พ.ศ. ....

ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้

2. รับทราบรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองได้ภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

3. ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ แล้วแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ต่อไปด้วย

4. ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเร่งรัดดำเนินการนำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำชายฝั่งอ่าวไทยตะวันตก ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำฝั่งตะวันตก เสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ต่อไปด้วย

สทนช. เสนอว่า

1. โดยที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 25 บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีการกำหนดลุ่มน้ำ ซึ่งหมายถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งครอบคลุมลำน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งที่รวมน้ำให้ไหลลงสู่ลำน้ำ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ การตั้งถิ่นฐาน การผังเมือง ผังน้ำและเขตการปกครองประกอบด้วย และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น การกำหนดลุ่มน้ำ จึงต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและมีแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย

2. สำหรับการกำหนดลุ่มน้ำนั้น เดิมเมื่อปี 2536 คณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ได้แบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเป็น 25 ลุ่มน้ำ ต่อมาในปี 2550 กรมทรัพยากรน้ำได้ทบทวนและจัดทำมาตรฐานใหม่ แต่มิได้มีผลบังคับทางกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงการบริหารจัดการที่ขาดเอกภาพไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต ประกอบกับในปัจจุบันความก้าวหน้าทันสมัยของเทคโนโลยีสามารถวิเคราะห์ผลได้ละเอียดแม่นยำมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำขึ้นใหม่

3. สทนช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาทบทวนขอบเขตการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบจากการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำในปี 2561 สรุปผลการศึกษาให้ปรับปรุงลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ เป็น 22 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ ฝั่งตะวันตก

4. คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ และให้ สทนช. ดำเนินการจัดทำแผนที่ลุ่มน้ำ และให้มี การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ ต่อไป

5. สทนช. จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ แต่เนื่องจากคณะกรรมการลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องขอเปลี่ยนชื่อลุ่มน้ำจาก “ลุมน้ำเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์” เป็น “ลุ่มน้ำชายฝั่งอ่าวไทยตะวันตก” ส่วนลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำฝั่งตะวันตก จำนวน 7 ลุ่มน้ำ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและยืนยันความเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง และการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำนี้ จะเป็นฐานในการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา ซึ่งกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำและกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดังนั้น สทนช. จึงเห็นสมควรดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 14 ฉบับดังกล่าว ต่อไป

6. โดยที่มาตรา 106 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 บัญญัติให้การดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ดังนั้น สทนช. จึงได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบถึงเหตุผลความจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาฯ ได้ทัน ภายในวันที่ 26 เมษายน 2562 ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมิติต่าง ๆ โดยคำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ การตั้งถิ่นฐาน การผังเมือง ผังน้ำ และเขตการปกครอง ประกอบกับการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอาจไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในช่วงที่มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นอกจากนี้ ในการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต้องระบุเขตพื้นที่การปกครองจนถึงระดับตำบล และครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อให้การกำหนดขอบเขตลุ่มน้ำเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และ ลดข้อผิดพลาดที่จะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ เช่น การคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำ การจัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ การจัดทำแผนป้องกันภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม การประกาศเขตภาวะน้ำแล้ง การขออนุญาตการใช้น้ำประเภทต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจึงจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดรอบคอบ เพื่อความถูกต้อง เหมาะสม และ ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 14 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ

ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จำนวน 14 ฉบับ ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ เป็นการกำหนด ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้สามารถดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดลุ่มน้ำดังกล่าวแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มิถุนายน 2562--


แท็ก กฤษฎีกา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ