รายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่อง ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service)

ข่าวการเมือง Monday July 15, 2019 14:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่อง ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) และกรอบแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐ: สถาปัตยกรรมระบบและการเชื่อมโยงข้อมูล (Government One Stop Service Development Framework: System Architecture and Data Linkage) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ ดศ. ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการขับเคลื่อนศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ให้ ดศ. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ดศ. รายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่อง ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) สรุปได้ดังนี้

1. คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 โดยที่ประชุมให้ศึกษาหลักการด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลผ่านเอกสารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Center: OSS Center) เพื่อวางแผนทิศทางขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Roadmap) และแนวทางการพัฒนาศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่อยกระดับบริการของหน่วยงานภาครัฐไปสู่รูปแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมอำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจกับประชาชนโดยต้องเป็นหลักการที่เป็นจริงได้และครบทุกมิติ ซึ่งได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับดูแล และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันในรูปแบบคณะทำงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อร่วมกันจัดทำร่างแผนทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ คณะทำงานได้มีการประชุมทั้งสิ้นจำนวน 9 ครั้ง เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

2. กรอบแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐ: สถาปัตยกรรมระบบและการเชื่อมโยงข้อมูล (Government One Stop Service Development Framework: System Architecture and Data Linkage) ดศ. ได้หารือแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดทำกรอบแนวทางฯ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

2.1 การจัดลำดับความสำคัญของบริการเพื่อพัฒนาระบบนำร่องบริการแบบเบ็ดเสร็จ ได้แบ่งระดับความพร้อมของการพัฒนาเป็น 4 ระดับ ได้แก่

2.1.1 การนำบริการแบบดั้งเดิมของหลายหน่วยงานมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน

2.1.2 เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีอำนาจดำเนินการให้กับหลายหน่วยงานได้

2.1.3 บริการในรูปแบบ “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”

2.1.4 บริการแบบเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบผ่านช่องทางดิจิทัล

ทั้งนี้ การจัดระดับความพร้อมด้านการให้บริการจะเอื้อต่อการตัดสินใจคัดเลือกบริการนำร่องที่เหมาะสมและเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) และ สพร. ได้วิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมการให้บริการของภาครัฐในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลคู่มือประชาชนบนเว็บไซต์ www.info.go.th ซึ่งสรุปภาพรวมการให้บริการจำนวน 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ บริการของภาคธุรกิจและบริการของภาคประชาชน สรุปได้ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย/หมวดหมู่

1. ธุรกิจ

ระดับความสำคัญ

บริการทั่วไป 3,945

บริการที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ/สังคม 102

ไม่ระบุ

รวม 4,047

กลุ่มเป้าหมาย/หมวดหมู่

2. ประชาชน

ระดับความสำคัญ

บริการทั่วไป 794

บริการที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ/สังคม 117

ไม่ระบุ 299

รวม 1,210

กลุ่มเป้าหมาย/หมวดหมู่

รวม (ธุรกิจ + ประชาชน)

ระดับความสำคัญ

บริการทั่วไป 4,739

บริการที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ/สังคม 219

ไม่ระบุ 299

รวม 5,257

การจัดระดับความพร้อมของบริการ เพื่อคัดเลือกกลุ่มบริการนำร่องที่เหมาะสมสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ความพร้อมในการพัฒนาบริการโดยดูจากหน่วยงานที่มีระบบฐานข้อมูลอยู่แล้วสามารถให้บริการผ่านระบบสารสนเทศได้ มีการเชื่อมโยงเอกสารบริการผ่านระบบสารสนเทศเป็นสัดส่วนที่สูง รวมทั้งมีกระบวนการของบริการไม่ซับซ้อน มีจำนวนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องไม่มากนัก และไม่ติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย และ (2) ผลกระทบของบริการต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเลือกจากบริการที่มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนสูง ใช้ระยะเวลาดำเนินธุรกรรมนาน และถูกจัดกลุ่มให้เป็นบริการที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.พ.ร. และสามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ

เป้าหมายหลักของการเลือกบริการเพื่อพัฒนาระบบนำร่องคือ (1) การลดค่าเวลาเฉลี่ยในการรับบริการได้อย่างเป็นรูปธรรมคิดเป็นมูลค่าได้โดยประหยัดงบประมาณรัฐ ประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางมารับบริการ และ (2) เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการของประชาชนโดยพัฒนาการยื่นเรื่องที่เดียวได้หลายหน่วยงาน และสามารถติดตามผลของคำขอได้อย่างสะดวกผ่านอินเทอร์เน็ต

2.2 กรอบแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับบริการแบบเบ็ดเสร็จ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมีการเชื่อมโยงเอกสารข้อมูล และกระบวนงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ กรอบแนวคิดการบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการให้บริการ จำแนกได้เป็น 6 มิติ ได้แก่

2.2.1 การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมของนักวิเคราะห์กระบวนงาน วิศวกรซอฟท์แวร์ และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ เพื่อให้การบริการเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล การพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซนเตอร์/คลาวด์ เพื่อการประมวลผลที่เหมาะสมมีประสิทธิผลในการใช้งาน ทั้งในมิติด้านความต่อเนื่องของบริการ การรักษาความปลอดภัย และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูล อย่างเป็นระบบ

2.2.2 การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกำกับดูแลข้อมูลของตน ให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ และทันสมัย รวมทั้งพร้อมใช้งาน โดยมีการกำกับดูแลความปลอดภัยของข้อมูลให้ได้มาตรฐานตามชั้นความลับ เพื่อให้การบริการเอกสาร/ข้อมูลเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

2.2.3 การพัฒนาระบบรายการข้อมูลและฟอร์มบริการภาครัฐ โดยรวบรวมรายละเอียดของเอกสาร/ข้อมูล และคำอธิบายกระบวนงานสำหรับบริการสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ จากนั้นพัฒนาระบบบริหารจัดการฟอร์มบริการและกลไกการสืบค้นที่เหมาะสม

2.2.4 การพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมเพื่อบริหารจัดการการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเอกสาร/ข้อมูล สำหรับการให้บริการประชาชนแบบ One Stop Services ของหน่วยงานภาครัฐ มีบริการพื้นฐาน เช่น การยืนยันตัวตน การจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล บริการส่งเอกสาร/ข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ บริการการจัดการกระบวนงานผ่านระบบสารสนเทศ บันทึกธุรกรรม การเข้าถึงข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐาน รวมถึงการออกแบบเครื่องมือต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐต้องใช้ในการกำกับดูแลและให้บริการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ

2.2.5 การศึกษากระบวนการกฎหมาย/กฎกระทรวง/พระราชบัญญัติ เช่น กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อออกแบบแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเอื้อต่อการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ

2.2.6 การกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบเปิด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวของกรอบการพัฒนาบริการเบ็ดเสร็จ โดยการที่หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีศักยภาพในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถให้ความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส

2.3 สถาปัตยกรรมระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ การออกแบบสถาปัตยกรรมต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และต้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ยึดติดกับเทคโนโลยี และพร้อมขยายขนาดให้มีระดับการให้บริการที่สูงได้ โดยการบูรณาการระบบงาน กระบวนงาน และการต่อเชื่อมเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้แบบ 1 ต่อ 1 โดยแบ่งประเภทบริการเป็น 3 ระดับ คือ

2.3.1 พอร์ทัลบริการ (Service Portal) คือระบบดิจิทัลให้ผู้ขอรับบริการสามารถยื่นคำขอเพื่อขอรับบริการต่าง ๆ ของรัฐและสามารถติดตาม/ได้รับ/แจ้งเตือนความคืบหน้าในการอนุมัติ/อนุญาต รวมถึงงานบริการบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานสามารถยื่นเรื่องเป็นคำขอเดียว โดยข้อมูลที่ยื่นผ่านระบบนี้จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อดึงเอกสารแนบต่าง ๆ โดยประชาชนไม่ต้องนำเอกสารที่ออกโดยภาครัฐมายื่น ซึ่งปัจจุบันมีระบบพอร์ทัลเพื่อให้บริการแก่ภาคธุรกิจชื่อว่า “Biz Portal” และวางแผนจะให้บริการแก่ประชาชนในบริการพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบการรับชำระค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการออกใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์

2.3.2 ศูนย์เชื่อมโยง (Linkage Center) มีหน้าที่หลักในการเชื่อมโยงเอกสาร/ข้อมูล และเชื่อมโยงกระบวนงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้พอร์ทัลบริการสามารถจัดการคำขอได้โดยสะดวก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลแล้ว 2 หน่วยงาน ได้แก่ (1) ระบบ Data Linkage ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เชื่อมโยงข้อมูลโดยเลขประจำตัว 13 หลักของบัตรประชาชนและข้อมูลทะเบียนราษฎร์รองรับการยืนยันตัวตนและ (2) ระบบข้อมูลการนำเข้าส่งออกเบ็ดเสร็จ (National Single Window: NSW) ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (กค.) เชื่อมโยงข้อมูลนำเข้า/ส่งออกโดยใช้บริการยืนยันตัวบุคคลของกรมการปกครอง และปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาบริการ

ในอนาคตรัฐบาลอาจมีระบบ Linkage เพิ่มขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้ครบทุกบริการ เช่น ระบบ Government Data Exchange (GDX) เชื่อมโยงข้อมูล/เอกสารด้านธุรกิจนอกเหนือจากเรื่องนำเข้า/ส่งออก

2.3.3 หน่วยงานบริการภาครัฐ (Government Service Agency) หน่วยงานรับผิดชอบด้านการให้บริการจดแจ้ง ขอใบอนุญาตและธุรกรรมภาครัฐแก่ประชาชนแบบดั้งเดิม (ส่วนมากไม่เป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ) ซึ่งมีจำนวนมากและใช้เทคโนโลยี/วิธีการทำงาน/จัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลแตกต่างกัน ทำให้บูรณาการกระบวนงานข้ามหน่วยงานยาก ศูนย์เชื่อมโยงควรบูรณาการในระดับเอกสาร/ข้อมูลในเบื้องต้น หน่วยงานสามารถเข้าร่วมการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จได้โดยจัดเตรียมระบบเชื่อมข้อมูลแยกจากฐานข้อมูลหลักและพัฒนาเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐสามารถรับธุรกรรมการขอรับบริการรายวันผ่านระบบของศูนย์เชื่อมโยง และดำเนินการตามกระบวนการปกติเมื่อเสร็จสิ้นสามารถแจ้งผลกลับไปยังศูนย์เชื่อมโยง สถาปัตยกรรมการบูรณาการเอกสาร/ข้อมูลและกระบวนงานนี้ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการออกแบบนโยบายของรัฐให้ตรงกับสภาวการณ์และความต้องการของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กรกฎาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ