(ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุม United Nations Climate Action Summit 2019

ข่าวการเมือง Tuesday September 17, 2019 18:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ร่วมกับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะ ad-referendum เนื่องจากการประชุม UN Climate Action Summit 2019 มีกำหนดจัดขึ้นก่อนการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 โดยทั้งนี้มอบหมายให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายนำเสนอแถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ต่อที่ประชุม UN Climate Action Summit 2019 ตามความเหมาะสม ในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจะต้องรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ร่วมกับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ในลักษณะ ad-referendum (การเวียนขอการรับรองอย่างเป็นทางการ) ก่อนการนำเสนอต่อที่ประชุม United Nations Climate Action Summit 2019 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้นำเสนอ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ดังกล่าวตามความเหมาะสม

สาระสำคัญของ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมฯ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ (ก) ยินดีต่อการจัดการประชุม UN Climate Action Summit 2019 โดยเห็นว่าการประชุมจะมีส่วนสนับสนุนการดำเนินการภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ข) เน้นย้ำว่าประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญต่อการดำเนินการทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ค) นำเสนอการดำเนินการของอาเซียนทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเป้าหมายในด้านพลังงาน(การลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานและการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน) และเป้าหมายในด้านการคมนาคม (ลดการใช้เชื้อเพลิง) และ (ง) เน้นความสำคัญของกลไกในการสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเงินและความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กันยายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ