ข้อเสนอการปรับปรุงโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่

ข่าวการเมือง Tuesday October 1, 2019 17:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. เห็นชอบการปรับปรุงโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (โครงการ นปร.) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ส่วนการขอขยายอัตรากำลังจาก 120 อัตรา เป็น 150 อัตรา ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

2. กรณีที่จะมีการปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ นปร. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ดำเนินการปรับปรุงโครงการ นปร. ได้ โดยเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการพิจารณา

3. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดสรรนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ภายหลังจากที่จบโครงการแล้ว ให้โอนไปปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความต้องการกำลังคนเพิ่มเติมภายใต้กรอบอัตรากำลังของหน่วยงานตนเองสามารถรับโอนนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ไปปฏิบัติงานได้ทันที โดยไม่ต้องเสียงบประมาณในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเอง รวมทั้งเพื่อให้นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่กระจายไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สาระสำคัญของเรื่อง

เรื่องนี้เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (10 พฤษภาคม 2548 และ 8 เมษายน 2551) เห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (โครงการ นปร.) ปีงบประมาณละ 1 รุ่น รุ่นละ 60 คน โดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลัง จำนวน 120 อัตรา เพื่อใช้หมุนเวียนสำหรับการบรรจุแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ นปร. [เนื่องจากโครงการ นปร. มีระยะเวลาอบรมยาว 22 เดือน (1ปี 10 เดือน) ดังนั้น ภายในหนึ่งปีงบประมาณจึงประกอบไปด้วย นปร. ที่ยังอยู่ในโครงการรวมกัน 2 รุ่น ก.พ. จึงมีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลัง จำนวน 120 อัตรา] ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินโครงการ นปร. มาแล้ว 15 ปี (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2547 – 2562) สามารถผลิต นปร. ที่จบโครงการไปแล้วทั้งหมด 11 รุ่น จำนวน 378 คน และมี นปร. ที่กำลังอยู่ในโครงการอีก 2 รุ่น (รุ่นที่ 12 และ 13) จำนวน 77 คน รวมทั้งสิ้น 455 คน อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ นปร. ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ใช้แนวทางในการสรรหา คัดเลือก พัฒนา และประเมินผล นปร. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังกล่าว แต่เนื่องจากบริบทแวดล้อมต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงการ นปร. เพื่อให้ นปร. มีสมรรถนะเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2562 มีมติเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงโครงการ นปร. รวมทั้งขอขยายกรอบอัตรากำลังจาก 120 อัตรา เป็น 150 อัตรา ซึ่งมีรายละเอียดที่ขอปรับเปลี่ยนโครงการ นปร. สรุปได้ ดังนี้

รายละเอียดโครงการ นปร.

ตามมติคณะรัฐมนตรี (10 พฤษภาคม 2548 และ 8 เมษายน 2551) และตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับเพิ่มเติมตามความเหมาะสม (เดิม)

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนา นปร. ให้เป็นได้ทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary Thinker) นักพัฒนาและวางแผน (Developer and Planner) และนักปฏิบัติ (Operator) อย่างสมดุล รวมทั้งสามารถนำยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถนำนวัตกรรมด้านการบริหารใหม่ ๆ มาพัฒนาหน่วยงานภาครัฐที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์

ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่)

เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการ นปร. ให้เป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีวิสัยทัศน์และสมรรถนะครบครันในการปฏิบัติงาน สามารถริเริ่มปรับตัว และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของระบบราชการโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน สังคม และประเทศชาติ

กลุ่มเป้าหมาย

  • กลุ่มที่ 1 : กลุ่มนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง อายุไม่เกิน 30 ปี
  • กลุ่มที่ 2 : กลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป อายุไม่เกิน 30 ปี
  • กลุ่มที่ 3 : กลุ่มบุคคลภายนอกที่ทำงานภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป อายุไม่เกิน 30 ปี สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก กำหนดให้อายุไม่เกิน 35 ปี

ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่)

เหมือนเดิม

เงื่อนไขการบรรจุให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐ

1. หลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุ แต่งตั้ง และการให้ได้รับเงินเดือน

1.1 การบรรจุและแต่งตั้งจากกลุ่มบุคคลทั่วไปและกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศเข้ารับราชการ

(1) ให้บรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการระดับปฏิบัติการ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยให้ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ

(2) กรณีที่สำนักงาน ก.พ.ร. ประสงค์จะนำประสบการณ์ในการทำงานภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ มาประกอบการพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งในระดับที่สูงกว่าระดับแรกบรรจุและรับเงินเดือนสูงกว่าคุณวุฒิ นั้น ให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) หรือคณะกรรมการที่ ก.พ.ร. แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด

1.2 การบรรจุและแต่งตั้งจากกลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้รับโอนมาแต่งตั้งหรือรับโอนมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการ ในระดับที่ไม่สูงกว่าเดิมและรับเงินเดือนตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2551

2. หลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/151 ลงวันที่ 18 มกราคม 2553 และ ด่วนที่สุด ที่ นร 1006/1206 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553

ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่)

เหมือนเดิม

การคัดเลือก

ขั้นตอนที่ 1 การทดสอบความรู้พื้นฐาน ได้แก่

(1) วิชาความสามารถทางภาษาไทย

(2) วิชาความถนัดทางเชาวน์ปัญญา และ

(3) วิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (Chulalongkorn University Test of English Proficiency : CU - TEP)

ขั้นตอนที่ 2 การทดสอบข้อเขียน เพื่อทดสอบความรู้ ความสนใจ และวิสัยทัศน์ในด้านต่าง ๆ

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม และเชาวน์อารมณ์ ได้แก่

(1) การทดสอบวัดความถนัด (Aptitude Test) การทดสอบด้านจิตวิทยา (Psychological Test) และการประเมินพฤติกรรมด้วยวิธีการ Assessment Center และ

(2) การประเมินบุคลิกภาพด้วยการสอบสัมภาษณ์

ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่)

เหมือนเดิม

แนวทางการพัฒนา นปร.

มีการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระยะเวลา 22 เดือน ดังนี้

(1) ด้านวิชาการ ระยะเวลา 10 เดือน

(2) ด้านการฝึกปฏิบัติราชการ ระยะเวลา 12 เดือน ดังนี้

  • การปฏิบัติราชการในหน่วยงานส่วนภูมิภาค เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • การฝึกปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาคเอกชน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่)

มีการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระยะเวลา 22 เดือน ในลักษณะ Customized Program โดยส่วนราชการจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา นปร. ตั้งแต่อยู่ในโครงการ นปร. ดังนี้

(1) ด้านวิชาการ ระยะเวลา 9 เดือน

(2) ด้านการฝึกปฏิบัติราชการ ระยะเวลา 13 เดือน ได้แก่

  • การปฏิบัติราชการในหน่วยงานส่วนภูมิภาค เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • การฝึกปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐ รอบที่ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 2 เดือน
  • การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาคเอกชน เป็นระยะเวลา 2 เดือน
  • การฝึกปฎิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐ รอบที่ 2 เป็นระยะเวลา 3 เดือน

การประเมินผล

ประกอบด้วย

(1) การประเมินผลการเรีนรู้ของ นปร. โดยมีการประเมินผลทั้งระหว่างอยู่ในโครงการและประเมินผลเพื่อจบโครงการ และ

(2) ประเมินผลโครงการ นปร. โดยสำรวจความพึงพอใจของ นปร. ผู้ผ่านการพัฒนา หัวหน้าหน่วยงานที่ นปร. ได้เรียนรู้และฝึกงาน ตลอดจนหน่วยงานที่รับ นปร. ที่ผ่านการพัฒนาบรรจุเข้ารับราชการ

ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่)

ประกอบด้วย การประเมินผลระหว่างเข้าร่วมโครงการ นปร. และการประเมินเพื่อเป็นผู้ผ่านโครงการ นปร. โดยมี 5 องค์ประกอบ ดังนี้

(1) การประเมินความรู้ทางวิชาการ

(2) การประเมินการฝึกปฏิบัติราชการ

(3) การประเมินสมรรถนะหลัก (ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม / การสร้างความร่วมมือในการทำงานเป็นทีม / การเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง / การคิดวิเคราะห์และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา / การสื่อสารและการใช้ภาษา)

(4) การประเมินสมรรถนะเฉพาะตามสายอาชีพ และ

(5) การประเมินพฤติกรรม

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ