ขออนุมัติโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข่าวการเมือง Tuesday October 15, 2019 17:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้

1. ให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจและตรวจสอบพื้นที่ดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่ประกาศโดยกระทรวงมหาดไทย และให้พิจารณาดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเป็นลำดับแรก โดยใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้วให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หักงบประมาณที่ได้รับในโครงการที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะเดียวกัน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน และหรือขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป

2. สำหรับกรณีนอกเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่ประกาศโดยกระทรวงมหาดไทย นั้นกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจพื้นที่โดยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงาน รวมถึงบูรณาการเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่เกษตรกรจะได้รับ และเสนอแผนงาน/โครงการต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาก่อนและนำเสนอคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ หากกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนและพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวข้างต้นมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ ก็ให้ใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว ให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหักงบประมาณที่ได้รับในโครงการหรือรายการที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะเดียวกัน ยกเว้นโครงการ/รายการที่สามารถเบิกจ่ายได้ทันก่อนที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน และหรือขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากไม่เพียงพอและมีความจำเป็นก็ให้ใช้จ่ายจากการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้วแต่กรณี

สาระสำคัญ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรอบวงเงิน 2,000.00 ล้านบาท โดยระบบเกษตรแปลงใหญ่ใช้เกณฑ์การยึดพื้นที่เป็นหลัก (area-based approach) มีการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ในทุกกิจกรรมตลอด ห่วงโซ่อุปทาน กลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกัน และผลิตสินค้าเกษตรประเภทเดียวกัน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันเป็น 11 กลุ่มหลัก ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อนไหม ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง แมลงเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นเกษตรหลักของประเทศทั้งสิ้น ปัจจุบันทั้งประเทศมีกลุ่มเกษตรรวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่แล้ว จำนวน 5,578 แปลง เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 320,453 ราย คิดเป็นพื้นที่ 5,520,422 ไร่

1. หลักการ

1) กรมทรัพยากรน้ำเสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ โดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีระบบเชื่อมต่อกับแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำ เข้าไปสำรองเก็บในถังเก็บน้ำสำเร็จรูป ขนาดความจุ 100,000 ลิตร โดยพิจารณาเสนอให้มีการดำเนินการในพื้นที่นำร่องของพื้นที่เกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 120 แปลง ในพื้นที่ทั่วประเทศไทย งบประมาณ 1,000.00 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบกระจายน้ำ และปรับปรุงแหล่งน้ำ ให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์ จำนวน 80,000 ไร่ ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 4,000 ครัวเรือน

2) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการเจาะบ่อบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลด้วยการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว (150 มม.) ที่ความลึกเฉลี่ย 100 เมตร เจาะบ่อน้ำบาดาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว (200 มม.) ที่ความลึกเฉลี่ย 60 เมตร กิจกรรมออกแบบและก่อสร้างระบบสูบน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ ติดตามประเมินผลโครงการรวมถึงการส่งมอบโครงการ โดยกรมทรัพยากรน้ำ บาดาลได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ นำร่อง จำนวน 700 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่นาแปลงใหญ่และ ปศุสัตว์แปลงใหญ่ รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์จำนวนไม่น้อยกว่า 86,000 ไร่ จำนวนครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 7,000 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30.5 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี งบประมาณ 1,000.00 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. วัตถุประสงค์

1) เพื่อพัฒนาระบบส่งน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่นำร่องจำนวน 120 แปลงใหญ่

2) เพื่อเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่นำร่องจำนวน 700 แห่ง

3) เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของพืชแต่ละชนิดในพื้นที่กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ให้เพิ่มสูงขึ้น

3. เป้าหมาย

ดำเนินการในพื้นที่กลุ่มเกษตรที่รวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 5,578 แปลง ที่มีศักยภาพน้ำต้นทุนและสามารถพัฒนาระบบส่งน้ำและระบบกระจายน้ำ

1) พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนน้ำต้นทุนเพื่อการผลิตจำนวน 120 แปลงใหญ่ รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น จำนวน 80,000 ไร่ ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1) อัตราการส่งน้ำ 3,000 ลบ.ม/วัน วงเงิน 28 ล้านบาท/แปลง (2,000 - 3,000 ไร่) จำนวน 1 แปลง

1.2) อัตราการส่งน้ำ 1,500 ลบ.ม/วัน วงเงิน 15 ล้านบาท/แปลง (1,000 - 2,000 ไร่) จำนวน 1 แปลง

1.3) อัตราการส่งน้ำ 1,000 ลบ.ม/วัน วงเงิน 9.9 ล้านบาท/แปลง (500-1,000 ไร่) จำนวน 74 แปลง

1.4) อัตราการส่งน้ำ 500 ลบ.ม/วัน วงเงิน 4.95 ล้านบาท/แปลง (300-500 ไร่) จำนวน 44 แปลง

รวมค่าก่อสร้าง 993.40 ล้านบาท ค่าควบคุมงานและค่าบริหารโครงการ 6.60 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,000.00 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบส่งน้ำและกระจายน้ำในไร่นา พร้อมระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และระบบท่อส่งน้ำและกระจายน้ำให้ถึงไร่นา สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่/วิสาหกิจชุมชน

2) เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนโดยการเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำ 700 แห่ง พื้นที่เป้าหมาย 86,000 ไร่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1) เพิ่มน้ำต้นทุนเกษตรแปลงใหญ่ (ปศุสัตว์แปลงใหญ่) ด้วยระบบกระจายน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ อัตราสูบประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมขนาดพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ จำนวน 620 แห่ง วงเงินงบประมาณ 892.80 ล้านบาท

2.2) เพิ่มน้ำต้นทุนเกษตรแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ด้วยระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ อัตราสูบประมาณ 20-40 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ จำนวน 80 แห่ง วงเงินงบประมาณ 107.20 ล้านบาท

4. ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ