ขอเสนอมาตรฐานสถิติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ข่าวการเมือง Tuesday October 22, 2019 16:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรฐานสถิติที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และประกาศใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตสถิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐนำมาตรฐานดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อมูลสถิติของหน่วยงานต่อไป เพื่อให้ข้อมูลสถิติของประเทศสามารถแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดทำขึ้นต่างช่วงเวลาและต่างแหล่งข้อมูลได้ร่วมกันสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการกำหนดนโยบายหรือตอบโจทย์ตัวชี้วัดต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เกิดความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรในการผลิตสถิติของประเทศ

2. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดทำสถิติให้เป็นไปตามแผนกำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินงานทางสถิติตามแผนแม่บท1 และดำเนินการให้ถูกต้อง ตามมาตรฐานสถิติ

3. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดส่งข้อมูลการใช้มาตรฐานสถิติ รวมถึงรายละเอียดของข้อมูล (Metadata) ตามมาตรฐานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กำหนด ทั้งข้อมูลระดับย่อย (Microdata)2 และข้อมูลสถิติ เพื่อให้ สสช. รวบรวมเป็นข้อมูลในการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ (National Data Catalogue and Directory services) และเพื่อให้สามารถติดตามและประเมินสถานการณ์การพัฒนาสถิติของประเทศให้มีคุณภาพตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล สามารถนำมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า

1 แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2564) ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสถิติ และได้กำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้ในบทที่ 6 แผนปฏิบัติการ

2 Metadata คือ ข้อมูลรายละเอียดที่อธิบายถึงความเป็นมาของข้อมูล เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้รับผิดชอบ ลักษณะของข้อมูล หน่วยของข้อมูล วันเดือนปีที่ปรับข้อมูล เป็นต้น ส่วน Microdata คือข้อมูลระดับย่อยหรือข้อมูลสถิติ เช่น อายุ เพศ ประเทศ สถานภาพการทำงาน หรืออุตสาหกรรม เป็นต้น

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เนื่องจากการผลิตสถิติของแต่ละหน่วยงานในประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานและคุณภาพของข้อมูลสถิติ ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลหรือบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จึงได้นำเสนอ “มาตรฐานสถิติ” ซึ่งเป็นการกำหนดหรือแนวทางที่ตกลงร่วมกันในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศขึ้นมา เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้ในการจัดทำนโยบายและใช้ใน การตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดย ดศ. ได้นำเสนอมาตรฐานสถิติมาในครั้งนี้จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ (1) หลักการพื้นฐานสถิติทางการ โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน Fundamental Principles of Official Statistics (FPOS) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการถอด FPOS ออกเป็นหลักปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย (Thailand Statistics Code of Practice: TCoP) เพื่อให้เข้าใจง่ายในเชิงปฏิบัติ (2) แนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการ ซึ่งเทียบเคียงจากมาตรฐาน FPOS (3) นโยบายด้านมาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการ เพื่อให้สามารถ บูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอ้างอิงจากหลักการที่ 9 ของ FPOS (ใช้มาตรฐานสากล) และหลักปฏิบัติข้อที่ 8 ของ TCoP (ความสอดคล้องและเปรียบเทียบกันได้) และ (4) มาตรฐานการผลิตสถิติ โดยนำเสนอมาในครั้งนี้ 5 ตัวแปร (จากทั้งหมดประมาณ 30 ตัวแปร) ได้แก่ เพศ อายุ ประเทศ สถานภาพการทำงาน และอุตสาหกรรม

2. นอกจากนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการจัดทำระบบสถิติระบบเดิมเป็นระบบใหม่เป็นไปได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ดศ. จึงได้จัดทำกระบวนการเปลี่ยนผ่านมาตรฐานสถิติ สรุปดังนี้

2.1 หากหน่วยงานยังไม่มีการจัดทำข้อมูล ยังไม่มีการจัดทำมาตรฐาน หรือมีมาตรฐานที่ไม่เหมาะสม ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานตามที่ ดศ. เสนอในครั้งนี้ โดย สสช. จะเข้าไปร่วมพัฒนาและให้ความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อให้มาปรับใช้ตามมาตรฐานที่เสนอนี้ โดยการเชื่อมโยงมาตรฐานเดิมและมาตรฐานใหม่เข้าด้วยกันด้วยวิธีใช้ตารางเปรียบเทียบ (Mapping) และทำการพยากรณ์แบบมองย้อนหลัง (Backcasting) เพื่อให้ได้ข้อมูลชุดใหม่ ซึ่งในขณะนี้ สสช. อยู่ระหว่างการพัฒนาคู่มือในการพยากรณ์แบบมองย้อนหลังดังกล่าว

2.2 หากหน่วยงานมีภารกิจการทำงานตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานตนเอง และมีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรฐานสถิติหรือมาตรฐานการผลิตสถิติเฉพาะด้าน (เช่น กรมศุลกากรจำเป็นต้องใช้มาตรฐานอัตราพิกัดอัตราศุลกากรที่อ้างอิงตาม Harmonized System) หน่วยงานสามารถพิจารณาเองได้ว่าจะใช้มาตรฐานเดิมหรือจะปรับมาใช้มาตรฐานใหม่ แต่หน่วยงานจะต้องทำตารางเปรียบเทียบเพื่อให้สามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้

2.3 ในกรณีที่หน่วยงานไม่สามารถใช้ตามมาตรฐานสถิติตามที่เสนอได้นั้น หน่วยงานจะต้องแสดงข้อมูลมาตรฐานที่ตัวเองใช้ไว้อย่างชัดเจนและต้องตั้งสถานะว่าข้อมูลของหน่วยงานไม่สามารถบูรณาการกับหน่วยงานอื่นได้

2.4 เมื่อหน่วยงานได้ทำการปรับมาตรฐานสถิติเป็นระบบใหม่แล้ว สสช. จะทำการประเมินคุณภาพสถิติทางการตามหลักการ TCoP ทั้งนี้ สสช. ได้จัดทำคู่มือการประเมินคุณภาพสถิติทางการไว้แล้วและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสถัดไป

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรฐานสถิติแล้ว สสช. จะร่วมมือกับ ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐในการส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้มาตรฐานสถิติเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ