การขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ข่าวการเมือง Thursday January 2, 2020 17:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณา เรื่อง การขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เสนอแล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการตามกรอบแนวทางการดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยให้ ศอ.บต. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการแล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณาก่อนดำเนินตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย

2. รับทราบการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยให้มีศูนย์ประสานและบริการเบ็ดเสร็จด้านพลังงานเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต. และให้ ศอ.บต. หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการกำหนดกลไกการดำเนินโครงการนี้ให้มีลักษณะเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เช่น การพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการของชุมชน การกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการรับซื้อไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP) ของกระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) ทั้งนี้ ให้พิจารณาประเด็นความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวกับคณะกรรมการตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย

3. มอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยจัดทำรายงานความก้าวหน้าปัญหาและอุปสรรคของโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโดยเร็ว รวมทั้งประสานและอำนวยการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด พร้อมทั้งร่วมมือกับทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์ผลกระทบเชิงบวกต่อสาธารณชนให้ทราบและเห็นความก้าวหน้าของโครงการฯ และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม

4. ให้ ศอ.บต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีที่มีจำนวนประชาชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ของประชาชนให้ความสนใจในการเข้าร่วมการดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สาระสำคัญของเรื่อง

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้แนวทางประชารัฐด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งช่วยพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภาคใต้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมเกี่ยวกับกำหนดประเภทเชื้อเพลิง สถานที่ตั้ง คัดเลือกโครงการ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า การจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์ประสานและบริการเบ็ดเสร็จด้านพลังงานเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต. เพื่อเป็นสำนักงานดำเนินโครงการ ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย 3 กระบวนการ สรุปได้ ดังนี้

1. กระบวนการต้นทาง

? การจัดสรรปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น กล้าพันธุ์ ปุ๋ยธรรมชาติ ที่ดินทำกิน

? ส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยง/เพาะพันธุ์กล้าไม้พืชพลังงานในระดับหมู่บ้านและชุมชน โดยประชาชน/ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ

? ยกระดับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีสาขาวิชาและการเรียนการสอนด้านการเกษตรให้มีความเชี่ยวชาญและสร้างบุคลากรเฉพาะด้านพืชพลังงาน

? ให้มีศูนย์ประสานฯ โดยเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต

2. กระบวนการกลางทาง

? จัดตั้งศูนย์รวบรวมวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

? ส่งเสริมให้สถาบันวิชาการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการแปรรูปสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีมาตรฐานเพื่อให้มีสินค้าและบริการจากหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ไปสู่ตลาดสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มอาชีพวิสาหกิจและสหกรณ์ของประชาชน

3. กระบวนการปลายทาง

? จัดทำข้อเสนอการบริหารกิจการพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะขอรับจัดสรรอัตราการผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

? การกำหนดสัดส่วนการลงทุน โดยมีผู้ถือหุ้นร่วมกัน 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1) ประชาชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ของประชาชน ถือหุ้นอัตราไม่เกินร้อยละ 40 (ให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ถือหุ้นแทนประชาชนไปก่อนจนกว่าประชาชนจะมีความเข้มแข็ง) 2) ภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพและทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ถือหุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 และ 3) กฟผ./กฟภ./บริษัทเอกชนนอกพื้นที่เป็นผู้ถือหุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 30

? ให้มีคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

? ให้จัดตั้ง “กองทุนพลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยนำรายได้จากผลกำไรสุทธิไม่เกินร้อยละ 10 ของโรงไฟฟ้า มาเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนสร้างอาชีพให้กับประชาชน เป็นต้น

ระยะเวลาดำเนินการ : 5 ปี (ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการ)

ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น : จำนวน 19,764 ล้านบาท/5 ปี (3,952.80 ล้านบาท/ปี)

ทั้งนี้ ที่ประชุมที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการจัดทำแนวทางการบริหารโครงการฯ และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในขณะนั้น) พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ ศอ.บต. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการดังกล่าวตามขั้นตอน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ