ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้นำร่อง พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday January 7, 2020 17:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้นำร่อง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

คค. เสนอว่า

1. เนื่องจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้นำร่อง ชั้น 2 ค. ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และการกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นผู้นำร่องไม่สอดคล้องกับคุณวุฒิทางการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้นำร่อง คค. จึงเห็นสมควรปรับปรุงคุณสมบัติของผู้นำร่อง ชั้น 2 ค. โดยต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือไทย หรือกองทัพเรือต่างประเทศ หรือมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งทางวิทยาการเดินเรือที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง จากเดิมมีเพียงโรงเรียนนายเรือหรือกองทัพเรือต่างประเทศ หรือผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดตามหลักสูตรฝ่ายเดินเรือของรัฐบาลไทย หรือรัฐบาลต่างประเทศ และแก้ไขโดยการเปลี่ยนแปลงชั้นการได้รับประกาศนียบัตร จากเดิมต้องเป็นหรือเคยเป็นนายเรือของเรือกลที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่น้อยกว่า 450 ฟุตมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้รับประกาศนียบัตรชั้น 1 (นายเรือ) จากกรมเจ้าท่า เป็นไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรประจำเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาดห้าร้อยตันกรอสหรือมากกว่า หรือประกาศนียบัตรชั้น 3 นอกจากนี้ หน้าที่ของผู้นำร่องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 56 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) ยังไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของผู้นำร่องตามมาตรฐานสากล และที่ปฏิบัติงานอยู่จริง จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้นำร่องมีหน้าที่เพียงการให้คำแนะนำและช่วยเหลือนายเรือ ไม่มีหน้าที่ทำการแทนนายเรือและการออกคำสั่งให้นายเรือต้องปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของการทำการนำร่องในระดับสากล

2. ภารกิจการนำร่องหรือการเป็นผู้นำทางเรือให้เข้า - ออก ร่องน้ำต่าง ๆ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญและเป็นสากล ในปัจจุบันมีเขตท่าเรือที่บังคับการเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง ได้แก่ เขตท่าเรือกรุงเทพ เขตท่าเรือศรีราชา เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เขตท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เป็นต้น ซึ่งผู้นำร่องเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะ ความปลอดภัยของร่องน้ำ การเดินเรือในร่องน้ำจำกัด ในที่แคบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการนำทางเรือให้เข้า – ออกร่องน้ำต่าง ๆ และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐช่วยสอดส่องการกระทำผิดกฎหมายไทย

3. ผู้นำร่อง แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ดังนี้

3.1 ผู้นำร่องชั้น 2 ค. ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน 400 ฟุต (121.92 เมตร)

3.2 ผู้นำร่องชั้น 2 ข. ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน 450 ฟุต (137.20 เมตร)

3.3 ผู้นำร่องชั้น 2 ก. ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำ ไม่เกิน 500 ฟุต (152.44 เมตร)

3.4 ผู้นำร่องชั้น 1 ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำ ไม่เกิน 565 ฟุต (172.26 เมตร)

3.5 ผู้นำร่องชั้นอาวุโส ทำการนำร่องเรือได้ทุกขนาด

3.6 ผู้เชี่ยวชาญการนำร่อง เป็นผู้นำร่องชั้นอาวุโสซึ่งได้ทำการนำร่องมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น 2 ค.

4. คค. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้นำร่อง พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขปรับปรุงคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นผู้นำร่อง ชั้น 2 ค. และแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้นำร่อง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับหน้าที่ของผู้นำร่องตามมาตรฐานสากลและที่ปฏิบัติงานอยู่จริงในปัจจุบัน อันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำร่องเพียงพอตามความจำเป็นและความต้องการของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำของประเทศให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ปรากฏว่า ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเห็นด้วยในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้นำร่องชั้น 2 ค. ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.1 เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือไทย หรือกองทัพเรือต่างประเทศ หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งทางวิทยาการเดินเรือ ตามที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง

1.2 ต้องได้รับประกาศนียบัตรสำหรับผู้ทำการในเรือฝ่ายเดินเรือ ในชั้นไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาดห้าร้อยตันกรอสหรือมากกว่า หรือประกาศนียบัตรชั้น 3 (ต้นหนที่สอง) ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือชั้นประกาศนียบัตรอื่นที่เทียบเท่า

1.3 ต้องดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือปฏิบัติหน้าที่นายเรือ (MASTER) มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือตำแหน่งต้นเรือมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี หรือตำแหน่งนายเรือและต้นเรือรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี

1.4 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันรับสมัคร และมีคุณสมบัติทั่วไปครบถ้วนที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญได้ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

2. กำหนดให้ผู้นำร่องที่ทำการนำร่องจะต้องแนะนำนายเรือให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และกำหนดนิยามคำว่า “ทำการนำร่อง” ให้หมายความว่า เข้าทำหน้าที่ช่วยเหลือนายเรือเฉพาะในเรื่องการเดินเรือ และการบังคับเรือให้เคลื่อนเดินไปอย่างปลอดภัยในเขตท่าหรือน่านน้ำซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง โดยนายเรือรับรู้และเห็นชอบด้วย กับคำบอกหรือคำแนะนำของผู้นำร่อง

3. กำหนดให้ผู้นำร่องทุกคนที่ทำการนำร่องเรือลำใด ต้องใช้ความระมัดระวังและพยายามให้มากที่สุดที่จะหลีกเลี่ยง หรือป้องกันมิให้เกิดอันตราย หรือเสียหายแก่เรือลำนั้นหรือเรือลำอื่น หรือแก่ทรัพย์สิ่งของ อย่างใด ๆ โดยแนะนำนายเรือให้กระทำ หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ เพื่อป้องกันความเสียดายดังกล่าว แต่นายเรือยังคงมีอำนาจที่จะระงับหรือไม่ปฏิบัติตามคำบอก หรือคำแนะนำของผู้นำร่องก็ได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ