ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring ภายใต้ Country Programme ระหว่างไทยกับ OECD

ข่าวการเมือง Tuesday March 3, 2020 18:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการดำเนินโครงการภายใต้โครงการ Country Programme (CP)

2. เห็นชอบมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลักของทั้ง 16 โครงการในการเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกำหนดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยของเลขาธิการ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Modernising Education and Skills Development ที่จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการอาชีวศึกษาของไทย

3. เห็นชอบในหลักการการจัดทำโครงการ CP ระยะที่ 2 และการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ (Steering Committee) สำหรับการติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP

4. เห็นชอบให้ สศช. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการจัดกิจกรรม Thailand Country Programme Launching Event ในช่วงที่เลขาธิการ OECD เดินทางมาเยือนไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development :OECD) เป็นองค์การความร่วมมือของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำคัญที่ประเทศพัฒนาแล้วบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อปี 2556 OECD ได้เลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศ (อีก 3 ประเทศ คือ โมร็อกโก เปรู และคาซัคสถาน) ที่ประสงค์จะพัฒนาความร่วมมือผ่านโครงการ Country Programme (CP) โดยไทยได้ร่วมลงนามใน MOU เพื่อจะจัดทำโครงการ CP เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทยอย่างบูรณาการ ทำให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวนโยบายภาครัฐของไทยที่จำเป็นเร่งด่วนต่อการส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาขีดความสามารถ และปฏิรูปกฎระเบียบภายในให้ดียิ่งขึ้น โดยโครงการ CP มีระยะเวลาดำเนินการ 2 – 3 ปี มีแนวทางความร่วมมือ 5 รูปแบบ 4 เสาหลัก และ 16 โครงการ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs)

ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ ภายใต้ 4 เสาหลัก ได้แก่

เสาหลักที่ 1: ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance and Transparency)

1. โครงการ Improving Integrity and Governance in the Public Sector Designing Effective Anti – Corruption Policies รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

2. โครงการ Supporting Open and Connected Governance and Stakeholder Engagement รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

3. โครงการ Advancing Budget Reform รับผิดชอบโดย สำนักงบประมาณ (สงป.)

เสาหลักที่ 2: สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate and Competitiveness)

4. โครงการ Improving the Business Climate through and OECD Investment Policy Reviews (IPR) รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)

5. โครงการ Implementing Regulatory Reform and Mainstreaming Good Regulatory Practice (GRP) รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)

6. โครงการ Developing Competition Policy รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)

7. โครงการ Fostering Responsible Business Conduct (RBC) รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)

8. โครงการ Supporting SMEs Policy: Strengthening Regional Innovation Clusters รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

9. โครงการ Supporting SMEs Policy: the ASEAN SME Policy Index รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

เสาหลักที่ 3: ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)

10. โครงการ Enhancing Science, Technology and Innovation Policies รับผิดชอบโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

11. โครงการ Developing Teaching and Learning รับผิดชอบโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

12. โครงการ Supporting and Digital Economy รับผิดชอบโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)

13. โครงการ Modernising Education and Skills Development รับผิดชอบโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.)

เสาหลักที่ 4: การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth)

14. โครงการจัดทำรายงานประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมิติ (Multi-Dimensional Country Review: Thailand’s MDCR) รับผิดชอบโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

15. โครงการจัดทำรายงาน Thailand’s Economic Assessment 2019 รับผิดชอบโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

16. โครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการ CP ในระยะต่อไป ได้แก่

1. การจัดทำโครงการ CP ระยะที่ 2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้มีการจัดทำโครงการ โครงการ CP ระยะที่ 2 โดยอาจให้ความสำคัญกับสาขาความร่วมมือที่เป็นประเด็นปฏิรูปที่สำคัญและ/หรือยังไม่ถูกกล่าวถึงในโครงการ CP ระยะแรก และประเด็นที่จะมีผลต่อการพิจารณารับไทยเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ถึงแม้ว่าไทยอาจจะยังไม่ตัดสินใจในการเข้าเป็นสมาชิก OECD แต่ความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎระเบียบ ให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น

2. การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ (Steering Committee) สำหรับติดตามการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP โดยมีองค์ประกอบ คือ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทน กระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานรับผิดชอบของแต่ละโครงการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการ โดยมี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อให้ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงในประเด็นด้านสารัตถะมากยิ่งขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ