การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน]

ข่าวการเมือง Wednesday March 11, 2020 09:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19)

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2563 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในส่วนของไทย

2. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 เวียดนามได้เสนอร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนร่วมรับรองในช่วงการประชุมในข้อ 1

3. ร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น (1) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความพยายามในการประสานงานและความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อการตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัลเพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป แม้ในกรณีมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (3) ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว โดยเฉพาะความพยายามร่วมในการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 (4) ต่อยอดการใช้เวทีการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีอยู่ในอาเซียน เช่น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน (5) หลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกในการหาซื้อและการกักตุนสินค้าเพื่อลดการสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่ไม่จำเป็น (6) จัดการกับอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ