คำแนะนำเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีต่าง ๆ และพิธีทางศาสนาในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2020 19:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำแนะนำเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีต่างๆ และพิธีทางศาสนาในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้

สืบเนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในทุกทวีปทั่วโลก ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถติดต่อโดยการแพร่กระจายละอองฝอยของเชื้อโรค เหมือนเชื้อกลุ่มไข้หวัด และการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งช่วงเวลานับจากนี้ ประเทศไทยมีกำหนดการจัดกิจกรรมตามเทศกาล ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีอื่น ๆ และพิธีทางศาสนา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนเป็นกลุ่มหรือการรวมตัวกันของคนหมู่มาก อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าว จึงควรเสนอคำแนะนำในการปฏิบัติ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนในการจัดเทศกาล ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีอื่น ๆ และพิธีทางศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจและการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1/2563 วันที่ 16 มีนาคม 2563 มีมติให้เสนองดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ โดยไม่เป็นวันหยุดราชการและไม่เป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน แต่จะชดเชยวันหยุดและสิทธิของผู้ใช้แรงงานในโอกาสอื่นต่อไป เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว จึงขอเสนอคำแนะนำในการปฏิบัติ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนเกี่ยวกับการจัดเทศกาล ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีอื่น ๆ และพิธีทางศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจและการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. คำแนะนำการปฏิบัติโดยทั่วไปในการจัดกิจกรรมตามเทศกาล ประเพณีต่าง ๆ และพิธีทางศาสนา โดยควรงดเว้น หรือเลื่อนกำหนดการจัดงานเทศกาล งานประเพณี หรืองานอื่นใดที่มีการรวมตัวของคนเป็นกลุ่มหรือการรวมตัวกันของคนหมู่มากไปก่อน หากเป็นงานจำเป็นที่ไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ เช่น งานศพ ควรดำเนินการมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงควรเน้นแบบแผนที่ปฏิบัติที่เป็นคุณค่าและสาระที่ถูกต้อง และตระหนักถึงสุขภาวะและความปลอดภัยของคนในชุมชน และหากพื้นที่ใดที่รัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นพื้นที่งดเว้นการจัดกิจกรรมใด ๆ ให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรมไทยอันดีงาม และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น การสวัสดีและไหว้แบบไทย

2. คำแนะนำสำหรับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ในปี 2563 เป็นการเฉพาะ ดังนี้

(1) การสืบสานคุณค่าสาระในประเพณีสงกรานต์แบบไทยหรือท้องถิ่น โดยงดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับและปฏิบัติเฉพาะภายในครัวเรือนเท่านั้น เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยสมาชิกในครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับสมาชิกที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่นควรงดการเดินทางกลับภูมิลำเนา ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาออกไปก่อน โดยอาจจะแสดงความสัมพันธ์ต่อครอบครัวและเครือญาติผ่านทางระบบสื่อสารสมัยใหม่ อาทิ โทรศัพท์ หรือสื่อสังคมสมัยใหม่ (Social Media) เช่น facebook Line ฯลฯ

(2) การปฏิบัติตน สมาชิกที่ร่วมกิจกรรมในครัวเรือนควรแต่งกายให้มิดชิด สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือด้วยน้ำสะอาด และสบู่เหลว กรณีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ควรตระหนักว่าการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ทั้งนี้ การทำความสะอาดบ้านเรือน ควรสวมใส่ถุงมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วย และควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนเป็นกลุ่มหรือการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งงดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสพของมึนเมาทุกชนิด ทั้งนี้ควรคำนึงถึงการมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่ประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคตามคำแนะนำและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ