การขอปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1)

ข่าวการเมือง Tuesday March 24, 2020 18:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 [เรื่อง การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund)] และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้จัดตั้งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไป โดยปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ให้ลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs)/ วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูงหรือที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ โดยร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายและร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของกิจการ และให้มีคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุนทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทุน

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (16 ธันวาคม 2557) เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) ซึ่งมีลักษณะเป็นกองทุนเปิดประเภททรัสต์ และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ขนาดของกองทุน 10,000-25,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนจากภาครัฐ ร้อยละ 10-50 ส่วนที่เหลือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน โดยจะแบ่งการลงทุนเป็นกองทุนย่อย ๆ และเรียกระดมทุนครั้งละไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต่อกองทุนย่อย และกองทุนย่อยแต่ละกองทุนจะมีนโยบายในการลงทุนตามแต่ละประเทท/กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก และมีคณะกรรมการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารงานของกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs โดยแหล่งเงินลงทุนในส่วนของภาครัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในฐานะภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเริ่มแรกเป็นจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งต่อมา ธพว. ได้จัดตั้งกองทุนย่อยกองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท (ธพว. 490 ล้านบาท และบริษัท ไทยเอชแคปปิตอล 10 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนกิจการที่ผ่านการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว จำนวน 8 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 98 ล้านบาท และมีกิจการที่ได้ร่วมลงทุนแล้ว 2 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39 ล้านบาท

2. จากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ธพว. พบว่า หลักการการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของ ธพว. ดังนี้ 1) การกำหนดวงเงินลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละรายขาดความยืดหยุ่นและไม่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้บางกิจการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด หรือกรณีที่มีผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ จะไม่สามารถเข้าร่วมลงทุนได้ 2) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือ/ผู้จัดการทรัสต์จะคัดเลือกเฉพาะกิจการที่ได้ผลตอบแทนดีหรือคัดเลือกตามที่ผู้จัดการทรัสต์สนใจ กิจการที่ดีแต่ไม่อยู่ในความสนใจจึงไม่ถูกคัดเลือกมานำเสนอ 3) การบริหารจัดการกองทุนขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยที่ 1) วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีการร่วมลงทุนในกิจการ SMEs เพียง 2 กิจการ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 39 ล้านบาท อีกทั้ง หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนย่อยกองที่ 1 กับกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs อื่น ซึ่งจัดตั้งโดยสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเห็นได้ว่าหลักการลงทุนมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับเป้าหมายมากกว่า จึงมี SMEs ที่ได้เข้าร่วมลงทุนค่อนข้างมาก ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของ ธพว. และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนเพิ่มขึ้น ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 [เรื่อง การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ ธพว. ได้จัดตั้งแล้ว วงเงิน 500 ล้านบาท ให้ดำเนินการต่อไป โดยปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ให้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน และรูปแบบกองทุนให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการร่วมลงทุนในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) ได้มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนย่อยกองที่ 1 ดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 25/2562 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 โดยสรุปการปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ได้ ดังนี้

โครงสร้าง

การบริหารจัดการกองทุน

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557

โดยคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (Investment Committee) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก SMEs

2) คณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษาวิสาหกิจร่วมทุน (Advisory Committee) สำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหรือประเภทกิจการที่เกี่ยวข้อง

กิจการเป้าหมายและวงเงินลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละราย

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557

1) SMEs ระยะเริ่มต้น (Seed & Start-Up Stage) เงินลงทุนแรกเริ่มไม่ควรเกิน 5 ล้านบาทต่อรายหรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน

2) SMEs ขนาดเล็กและขนาดกลาง (Second & Third Stage) เงินลงทุนแรกเริ่มไม่ควรเกิน 30 ล้านบาทต่อรายหรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน

คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน (Asset Manager)

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557

1) เป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย

2) มีส่วนร่วมลงทุนใน SMEs ที่ดูแล อย่างน้อย ร้อยละ 5

3) มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการเงินและการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการบริหารธุรกิจ และกำกับให้ SMEs ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

4) ช่วยดูแลควบคุมการนำเงินร่วมลงทุนที่ SMEs ได้รับไปใช้อย่างถูกต้อง ตามวัตถุประสงค์การลงทุน

5) กำกับดูแล SMEs ในการบริหารจัดการธุรกิจและระบบควบคุมภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีทั่วไป

6) ช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบเงินทุนหรือเงินกู้เพิ่มเติมให้แก่กิจการตามความเหมาะสม

สัดส่วนการร่วมลงทุน

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557

ร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของกิจการ

โครงสร้าง

การบริหารจัดการกองทุน

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่

โดยคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (Investment Committee) ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทรัสต์

กิจการเป้าหมายและวงเงินลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละราย

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่

1) ลงทุนใน SMEs หรือ Startup ที่มีศักยภาพสูงหรือใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือให้บริการหรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้

2) ร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย

คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน (Asset Manager)

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่

1) เป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย

2) มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการเงิน หรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจในการบริหารธุรกิจและสามารถกำกับให้ SMEs ดำเนินธุรกิจ ด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

3) ดูแลควบคุมการนำเงินร่วมลงทุนที่ SMEs ได้รับไปใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การลงทุน

4) กำกับดูแล SMEs ในการบริหารจัดการธุรกิจและระบบควบคุมภายใน ให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีทั่วไป

สัดส่วนการร่วมลงทุน

หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่

ร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของกิจการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ