ผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (สศช.)

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และ การประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศมาเลเซีย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาต (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนานโยบายกำกับเศรษฐกิจแบ่งปันอย่างมีนวัตกรรม (Workshop on Innovative Regulatory Policy Development :APEC Economies’ Approaches on Sharing Economy) ระหว่างวันที่ 13 - 14 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการพัฒนานโยบายกำกับเศรษฐกิจแบ่งปันของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมดูแลด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐาน การออกกฎหมาย/กฎระเบียบ การจัดเก็บภาษี และการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

2. การประชุมเชิงปฏิบัติการในการหาข้อสรุปสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการเอเปค เรื่อง ความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ ระยะที่ 3 [Workshop to Finalize the Third APEC Ease of Doing Business (EoDB) Action Plan] ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำแผนปฏิบัติการเอเปคฯ ระยะที่ 3 โดยจะให้ความสำคัญใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) การเข้าถึงเครดิต (2) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (3) การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (4) การจดทะเบียนทรัพย์สิน และ (5) การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ทั้งนี้ จะได้มีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาบังคับใช้และการกำหนดค่าเป้าหมายอีกครั้งหนึ่ง

3. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 ระหว่างวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ

1. การจัดทำโครงการด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคฉบับใหม่ Renewed APEC Agenda for Structural Reform (RAASR)

สาระสำคัญ

คณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee : EC) กำหนดให้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reform Ministerial Meeting : SRMM) ขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2563 ณ เมืองสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการหารือเชิงนโยบายเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างปี 2564 – 2568 โดยการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่จะครอบคลุมใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ 2) การยกระดับการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วนในสังคม เช่น สตรี คนชรา และคนพิการ 3) นโยบายทางสังคที่มีความยั่งยืน และ 4) ความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ

2. การจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค ปี 2563

สาระสำคัญ

รายงานนโยบายเศรษฐกิจปี 2563 จัดทำขึ้นในหัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มบทบาทให้กับสตรี” (Structural Reform and Women Empowerment) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เขตเศรษฐกิจในการยกระดับการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มบทบาทให้สตรีมีความเท่าเทียมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

3. การวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปค

สาระสำคัญ

ผู้แทนจากหน่วยสนับสนุนด้านนโยบายเอเปค (Policy Support Unit : PSU) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักเลขาธิการอาเซียนได้มีการกล่าวถึงตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงอย่างเดียว เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียว ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ดัชนีความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเขตเศรษฐกิจจำเป็นต้องปรับระบบการศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

4. การปฏิรูปโครงสร้างและเพศ (Structural Reform and Gender)

สาระสำคัญ

ประเทศชิลีได้นำเสนอการจัดทำแผนสำหรับสตรีและการเติบโตอย่างทั่วถึงภายใต้ชื่อ Le Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth เพื่อเพิ่มอำนาจให้สตรีสามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เข้าถึงตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจ การตัดสินใจ ส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษา อบรมและการพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาได้รายงานถึงผลของโครงการ Women@Work ที่ให้ความสำคัญกับได้การเข้าถึงตลาดแรงงานของสตรี โดยในปี 2563 จะจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและจัดกิจกรรมเพื่อค้นหาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

5. การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างและตัวชี้วัดนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Structural Reform and Beyond GDP)

สาระสำคัญ

หารือถึงตัวชี้วัดที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนนอกเหนือจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่าง GDP ซึ่งเขตเศรษฐกิจสมาชิกได้มีการนำเสนอตัวอย่างต่าง ๆ เช่น แคนาดานำเสนอเกี่ยวกับดัชนีความเป็นอยู่ที่ดี และอินโดนีเซียได้นำเสนอเกี่ยวกับดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง

6. การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง การระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR)

สาระสำคัญ

กล่าวถึงการระงับข้อพิพาทออนไลน์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยกระบวนการที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือ รวมถึงการลดอุปสรรคของพรมแดน ความแตกต่างด้านภาษาและกฎหมาย อย่างไรก็ดีการที่จะนำกรอบแนวทางและแบบจำลอง ODR เข้ามาปรับใช้ จำเป็นจะต้องมีการหารือเป็นการภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ สศช. เห็นว่า ไทยจำเป็นจะต้องเตรียมการเกี่ยวกับประเด็นที่จะบรรจุไว้ในวาระการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งไทยได้เสนอการพัฒนาตัวชี้วัดนอกเหนือจาก GDP เช่นดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย (Green and Happiness Index : GHI) รวมทั้ง ให้ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ