ปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการกักกันผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ

ข่าวการเมือง Tuesday May 19, 2020 18:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามนโยบายของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการของบุคคลโดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากงบกลางได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณกำหนด ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 อันเป็นเวลาที่เริ่มบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติประการอื่นตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชามอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณาปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการกักกัน (Quarantine) ผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายจากทางราชการให้รับผิดชอบการจัดสถานที่แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และตามข้อกำหนดออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้ประชุมหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองปลัดกระทรวงกลาโหม รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนกรมบัญชีกลางแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานและแนวทางการแก้ปัญหา ปรากฏผลดังนี้

1. ปัญหา

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นรัฐบาลได้มีนโยบายให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศกักกันตัวเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ณ สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (State Quarantine) ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้กันทั่วโลก โดยการดำเนินการในเรื่องนี้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อาศัยความสมัครใจของผู้ถูกกักกันและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แก่การป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดของโรค หน่วยงานที่รับมอบหมายให้รับผิดชอบคือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม หน่วยงานดังกล่าวจึงได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการจัดหาที่พัก อาหาร และยานพาหนะ รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมโรคให้แก่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (26 มีนาคม 2563) จนถึงปัจจุบัน โดยทุกส่วนราชการได้ดำเนินการเบิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือทดลองจ่ายไปบ้างแล้วบางส่วน เบื้องต้นกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเพื่อเบิกจ่ายในเรื่องดังกล่าว ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้งบประมาณในส่วนของตนตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท่องถิ่น พ.ศ. 2560 และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งของแต่ละท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงดำเนินการไปตามความฉุกเฉินเร่งด่วนเฉพาะหน้าตามนโยบายของรัฐบาล แต่ทุกส่วนราชการยังมีความกังวลใจว่าการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 41 และมาตรา 42 หรือไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าของพาหนะ หรือผู้ควบคุมพาหนะ หรือผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเอง

2. ผลการหารือ

ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การเกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นกรณีอุบัติใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่ได้มีการวางแผนหรือเตรียมตัวล่วงหน้าในระบบบริหารจัดการปกติและการตรากฎระเบียบไว้รองรับ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเทียบเคียงกับการปฏิบัติที่เคยดำเนินการมาร่วมกับแนวปฏิบัติใหม่ที่เกิดขึ้นตามวิธีปฏิบัติในนานาประเทศเพื่อให้สามารถดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที และเมื่อพิจารณามาตรา 41 และมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แล้วเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นสิทธิของรัฐในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ หรือผู้เดินทางเข้าประเทศ หากเกิดโรคระบาดระหว่างประเทศขึ้น ดังนั้นรัฐจึงมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือไม่ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลเคยดำเนินการรับผิดชอบเสียเองในทำนองเดียวกันนี้ในการจัดส่งเครื่องบินไปรับคนไทยในต่างประเทศเพื่ออพยพหลบภัยธรรมชาติ หรือภัยสงครามหรือจากการก่อความไม่สงบ ตลอดจนภัยอื่น ๆ เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยโดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายมาแล้ว ดังนั้น ในกรณีนี้ซึ่งเป็นการเกิดโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้จำกัดบริเวณและมีระยะเวลาการฟักตัวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย ประกอบกับรัฐไม่เคยเจรจากับสายการบินหรือผู้ถูกกักกันตัวไว้ก่อนให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในทางตรงกันข้ามหลายคนขอกลับไปกักตัวเองที่ภูมิลำเนาโดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่รัฐเห็นว่าบุคคลบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงเพราะเดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค มีประวัติการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ สมควรควบคุมให้อยู่ในที่เดียวกันภายใต้การดูแลของรัฐ เพื่อสะดวกแก่การเฝ้าระวังระยะฟักตัวและแก้ไขหากปรากฏอาการ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 47 บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งมาตรการกักกันตัวถือว่าเป็นมาตรการป้องกันโรคติดต่อเพื่อประโยชน์ของผู้นั้นเองและการแพร่ระบาดไปยังประชาชนทั่วไปที่รัฐพึงจัดให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าว

จากการหารือดังกล่าว ที่ประชุมเห็นว่าคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมือ่วันที่ 7 เมษายน 2563 ให้กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในการบริหารจัดการเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เกิดความชัดเจน เช่นในประเด็นการดำเนินการตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อแห่งขาติ พ.ศ. 2558 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการตามนโยบายของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการของบุคคลโดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากงบกลางได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณกำหนด ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 อันเป็นเวลาที่เริ่มบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติประการอื่น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ