การติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63

ข่าวการเมือง Tuesday June 9, 2020 17:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ การติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (12 พฤศจิกายน 2562 และ 24 กันยายน 2562) อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 และอนุมัติให้ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามลำดับ] โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยได้ชี้แจงประชาสัมพันธ์โครงการฯ และร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเกษตรกรและผู้ประกอบการโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคา (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2563) ดังนี้

วงเงินจ่ายขาด 9,442,342,800.00 บาท

จ่ายเงิยชดเชยส่วนต่างราคาแล้ว 4,842,778,169.24 บาท (ร้อยละ 51)

คงเหลือ 4,599,564,630.76 บาท

ได้รับอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม 448,226,666.97 บาท

คงเหลืองบประมาณจ่ายขาด 5,047,791,297.73 บาท

โดยมีเกษตรกรได้รับเงินจำนวนทั้งสิ้น 398,704 ครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการดังกล่าวในปีต่อไป

2. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข จากการรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. และจังหวัดนครราชสีมา สรุปได้ดังนี้

โครงการประกันรายได้ฯ (กรณีได้รับเงินชดเชยล่าช้า)

ข้อเท็จจริง

ปัญหา

  • เกษตรกรได้รับเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ฯ ล่าช้าเนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรส่งข้อมูลการแจ้งเก็บเกี่ยวของเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. ในแต่ละเดือน ยังไม่ครบถ้วนในครั้งเดียว
  • เกษตรกรบางรายที่แจ้งเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน 63 ยังไม่ได้รับเงิน

สาเหตุ

  • เกษตรกรบางส่วนแจ้งข้อมูลเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ยังไม่ได้ยืนยันสิทธิหรือยืนยันหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ
  • ในเดือนเมษายน 63 ได้มีการเปิดระบบช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาระบบฐานข้อมูลขัดข้อง เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องส่งข้อมูลรายชื่อพร้อมกับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวในเดือนพฤษภาคม 63 โดยคาดว่าจะโอนเงินชดเชยให้เกษตรกรได้ภายในต้นเดือนมิถุนายน 63
  • อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรกับ ธ.ก.ส. เช่น การแจ้งเพาะปลูกซ้ำซ้อน

แนวทางการแก้ไข

  • เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการประกันรายได้ฯ ในส่วนข้อมูลเกษตรกรและการโอนเงินส่วนต่าง
  • เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตรและ สงป. เร่งรัดจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
  • มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังจัดตั้งศูนย์บริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ของจังหวัด เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาพืชเกษตรที่มีการประกันรายได้ทั้ง 5 ชนิด

โครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง (กรณียังไม่ได้รับเงินชดเชย)

ปัญหา

  • เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่าทำลายต้นมันสำปะหลัง ไร่ละ 3,000 บาท จากโครงการฯ ทำให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เกิดความไม่มั่นใจ จึงไม่เข้าร่วมโครงการฯ และทำลายแปลง
  • มีการจำหน่ายท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคให้เกษตรกรไปปลูก ทำให้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

สาเหตุ

  • กรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างจัดหาเอกสารที่แสดงว่าราชการสั่งให้ทำลายโดยยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) ร้องขอ
  • การทำลายแปลงยังไม่แล้วเสร็จโดยอยู่ระหว่างการจัดจ้างทำลายแปลง จำนวน 26,824.975 ไร่

แนวทางการแก้ไข

  • เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการประกันรายได้ฯ ในส่วนข้อมูลเกษตรกรและการโอนเงินส่วนต่าง
  • เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตรและ สงป. เร่งรัดจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
  • มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังจัดตั้งศูนย์บริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ของจังหวัด เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาพืชเกษตรที่มีการประกันรายได้ทั้ง 5 ชนิด

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ