ผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2020 17:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 มาตรา 11 (3) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม] ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (เน็ตประชารัฐ) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) การแก้ไขปัญหาองค์กรของบริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท กสม โทรคมนาคม จำกัด (บมจ. กสท โทรคมนาคม) การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center And Cloud Service : GDCC) และ (ร่าง) นโยบายและแผนเฉพาะด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) (แผนปฏิบัติการ)

2. ผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5G สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการประมูลเพียง 3 คลื่นความถี่ ได้แก่ 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz มีผลรวมเงินประมูลทุกย่านความถี่จำนวน 107,557,660,221.39 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เปิดการประมูลมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ กสทช. พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการนำคลื่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์กับภาครัฐในด้านการศึกษาและการคมนาคม

3. ผลกระทบและแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับ Disruptive Technology ของประเทศไทย จากการศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Technology) พบว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใน 2 รูปแบบ คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ และภาคเกษตรกรรม และ 2) การเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบแพลตฟอร์มที่เข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม ทั้งนี้ จะมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานรายสาขาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของประเทศไทยต่อไป

4. หลักเกณฑ์การใช้จ่ายของเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามมาตรา 26 (6) แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้

4.1 วงเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกัน ช่วยเหลือเยียวยา หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบ่งเป็นสองส่วน คือ (1) วงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ด้านดิจิทัลที่สนับสนุนช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพของประชาชน และ (2) วงเงินจำนวน 400 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟู หรือเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ COVID-19

4.2 วงเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ขอรับทุนที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ตามมาตรา 26 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560

5. แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ บจม. กสท โทรคมนาคม บริหารจัดการทรัพย์สินภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจนสิ้นอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม และให้ ดศ. ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

6. โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Services : GDCC) คณะกรรมการฯ ได้กำหนดกรอบงบประมาณโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 – 2565 จำนวน 3,275.96 ล้านบาท และจากงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 797.973 ล้านบาท รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,073.069 ล้านบาท จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

7. (ร่าง) นโยบายและแผนเฉพาะด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) (แผนปฏิบัติการ) คณะกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนฯ ภายใต้กรอบมิติการขับเคลื่อนดิจิทัล ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยได้กำหนดเป้าหมาย 15 ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจชุมชนและฐานกราก ด้านการแพทย์ครบวงจร ด้านเศรษฐกิจการเกษตร ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านความมั่นคงและปลอดภัย และด้านการมี ส่วนร่วมทางสังคม

8. การพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลสู่การเป็น ASEAN Digital Startup Hub คณะกรรมการฯ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศน์วิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล (Thailand Digital Startup) โดยมีประเด็นข้อเสนอในการพัฒนา เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อส่งเสริม Digital Startup การแก้ไข และปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการปรับตัวและอยู่รอดของผู้ประกอบการค้าปลีก

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ