ร่างกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Thursday August 13, 2020 18:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการในการควบคุมหรือกำกับดูแลการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน ดังนี้

1. กำหนดนิยามคำว่า “มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน” “มูลฝอยทั่วไป” “มูลฝอยติดเชื้อ” “ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน” “น้ำชะมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน”

2. กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดให้มีสถานที่ถ่าย เท หรือทิ้งมูลฝอยที่เป็นพิษ หรืออันตรายจากชุมชนในที่หรือทางสาธารณะ หรือกำหนดให้มีวิธีจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ตามกฎกระทรวงนี้หรือตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรี (รมต.) กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (รจ.) และห้ามผู้ใดถ่าย เท ทิ้ง ทำให้มีขึ้น หรือกำจัดซึ่งมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ในที่หรือทางสาธารณะ นอกจากถ่าย เท ทิ้ง หรือกำจัด ณ สถานที่ หรือตามวิธีที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดหรือจัดให้

3. กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน ให้หน่วยงานหรือบุคคลและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และสุขลักษณะ ดังนี้

(1) สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ถุงมือยางหนา ผ้ายางกันเปื้อน หน้ากากป้องกันฝุ่นและสารเคมี รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันตนเองอื่น ๆ ที่จำเป็นตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง

(2) ในกรณีที่พบมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนรั่วไหล เกิดปฏิกิริยาหรือเหตุการณ์อื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะและความปลอดภัยตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดโดยคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข

4. กำหนดให้หน่วยงานหรือบุคคลต้องดำเนินการ ดังนี้

(1) จัดให้มีห้องน้ำหรือสถานที่เพื่อทำความสะอาดร่างกายและห้องส้วมสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงาน

(2) จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่และอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยและเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งเอกสารแสดงขั้นตอนการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ ต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวให้พร้อมใช้งานได้เสมอ

(3) จัดให้มีการตรวจสอบสุขภาพเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงาน โดยอย่างน้อยต้องเอกซเรย์ปอด ทดสอบสมรรถภาพปอด ตรวจผิวหนัง และตรวจการทำงานของตับและไตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

5. กำหนดให้ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนคัดแยกมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ออกจากมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยติดเชื้อ ตามประเภท ดังนี้

(1) หลอดไฟ

(2) ถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่

(3) ภาชนะบรรจุสารเคมี และให้รวมถึงกระป๋องสเปรย์ กระป๋องสารกำจัดศัตรูพืช กระป๋องสี ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ตลับหมึกพิมพ์ ภาชนะบรรจุน้ำมันปิโตรเลียม หรือภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ป้องกันหรือกำจัดแมลงและสัตว์ฟันแทะในบ้านเรือน ฯลฯ

6. กำหนดให้ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนบรรจุมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ที่คัดแยกแล้วใส่ในภาชนะบรรจุมูลฝอยโดยไม่ให้มีส่วนล้ำออกนอกภาชนะนั้นก่อนนำไปบรรจุในภาชนะรองรับมูลฝอย หรือนำไปไว้ที่จุดแยกทิ้งมูลฝอย หรือนำไปไว้ในสถานที่พักรวมมูลฝอย ทั้งนี้ ในกรณีที่มีปริมาณมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ตั้งแต่ 100 กิโลกรัมต่อเดือน ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ต้องจัดให้มีสถานที่พักรวมมูลฝอย เพื่อเก็บมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมีลักษณะตามที่กำหนดไว้

7. กำหนดให้สถานที่พักรวมมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมีลักษณะ ดังนี้ เป็นอาคารหรือแยกห้องเป็นสัดส่วนเฉพาะที่สามารถรองรับปริมาณมูลฝอยที่เป็นพิษฯ เช่น หลอดไฟ ฯลฯ และปิดมิดชิด มีพื้นคอนกรีตหรือมีพื้นที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม ฯลฯ

8. กำหนดให้หน่วยงานหรือบุคคลตรวจสอบการคัดแยกและการบรรจุมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนในสถานที่พักรวมมูลฝอยที่มีปริมาณมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ตั้งแต่ 100 กิโลกรัมต่อเดือน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และสุขลักษณะ ดังนี้

(1) มีการคัดแยก ถ่าย เท และบรรจุมูลฝอยที่เป็นพิษฯ แต่ละประเภทตามที่กำหนดในภาชนะที่เหมาะสม

(2) มีการเก็บมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ในสถานที่พักรวมมูลฝอยที่เป็นพิษฯ โดยป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในสถานที่พักรวมดังกล่าว

9. กำหนดให้ยานพาหนะขนมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และสุขลักษณะ ดังนี้ ตัวถังส่วนที่บรรจุมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่รั่วซึม มีลักษณะปกปิด ง่ายต่อการบรรจุ ขนถ่าย และทำความสะอาด ระดับตัวถังไม่สูงเกินไปหรืออยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานฯ มีสัญลักษณ์หรือสัญญาณไฟติดไว้ประจำยานพาหนะชนิดไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลโดยให้เปิดสัญญาณตลอดเวลาในขณะที่ปฏิบัติงาน และแสดงข้อความว่า “ขนมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน” พร้อมชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานหรือบุคคลนั้น ในกรณีที่เป็นบุคคลให้แสดงเลขที่ใบอนุญาตด้วย และใช้ตัวหนังสือที่มีขนาดที่บุคคลภายนอกมองเห็นได้ชัดเจนไว้ที่ภายนอกตัวถังด้านข้างทั้งสองด้านและด้านหลังของยานพาหนะมูลฝอยที่เป็นพิษฯ

10. กำหนดให้มีการฝังกลบอย่างปลอดภัย การเผาในเตาเผา หรือวิธีอื่นตามที่ รมต. กำหนดโดยประกาศใน รจ.

11. กำหนดให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ดำเนินการเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดำเนินการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงานภายใน 2 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดำเนินการเก็บและขนมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และดำเนินการกำจัดมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

12. กำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลที่ดำเนินการเก็บและขนมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนแต่ยังมิได้ดำเนินการกำจัดมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงานภายใน 2 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และดำเนินการกำจัดมูลฝอยที่เป็นพิษฯ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ