ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ข่าวการเมือง Tuesday August 25, 2020 15:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นการกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย ดังนั้น เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเห็นควรกำหนดให้มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

ผลกระทบ

การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรการข้างต้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้

1. ประมาณการการสูญเสียรายได้

(1) การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทุก ๆ ร้อยละ 1 จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท

(2) การกำหนดให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)

2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

(1) ในส่วนของประชาชน จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว

(2) ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนและสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้ต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ