ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....

ข่าวการเมือง Tuesday September 8, 2020 17:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป และให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

1. กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จำเป็นได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะ

2. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด ที่ไม่ใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องในการจัดทำประชามติหรือเพื่อให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี

กรณีที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ ให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีรายละเอียดตามวรรคหนึ่ง และหากไม่มีผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศให้มีการออกเสียงตามกฎหมายนั้น ให้รัฐอุดหนุนหรือจัดสรรค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติที่ต้องดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง

3. กำหนดให้คณะกรรมการประกาศกำหนดวันออกเสียงในราชกิจจานุเบกษาภายในระยะเวลาที่กำหนด วันออกเสียงต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทุกเขตออกเสียง และต้องกำหนดวันออกเสียงภายในระยะเวลาตามที่กำหนด ผู้ออกเสียงอาจเสนอคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่าการให้มีการออกเสียงไม่เป็นไปตามกฎหมาย

4. กำหนดให้การออกเสียง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ และให้การออกเสียงถือว่า มีข้อยุติต้องมีผู้ออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมาก และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง ในกรณีการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ให้ถือเสียงข้างมาก ส่วนการออกเสียงตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้ถือจำนวนคะแนนเสียงตามที่กฎหมายบัญญัติ

5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติต้องดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอโดยมีรายละเอียดตามที่กำหนด และต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จัดทำเอกสารส่งให้เจ้าบ้านทราบ รวมทั้งให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์และสื่อประชาสัมพันธ์อื่น ตลอดจนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทราบ และการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการจัดทำประชามติด้วย และในกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

6. กำหนดให้การออกเสียงกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้มีการออกเสียงให้ใช้เขตที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดเป็นเขตออกเสียง สำหรับการออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง และก่อนวันออกเสียงตามระยะเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการออกเสียงประจำเขตออกเสียงกำหนดหน่วยออกเสียงที่จะพึงมีในเขตออกเสียง และที่ออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การเขตหมู่บ้าน เป็นเขตของหน่วยออกเสียง หรือให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิอกเสียงหน่วยละหนึ่งพันคนเป็นประมาณ

7. กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันออกเสียง และกำหนดลักษณะต้องห้ามข้องผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

8. กำหนดให้เมื่อประกาศกำหนดวันออกเสียงให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงและปิดประกาศไว้ ณ ที่ออกเสียงหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่ออกเสียง หรือสถานที่ประชาชนสะดวกในการตรวจสอบ และแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบตามระยะเวลาที่กำหนด และให้เจ้าบ้านมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อต่อคณะกรรมการฯ ถ้าหากมีการยกคำร้อง ผู้ยื่นมีสิทธิคำร้องขอต่อศาลยุติธรรมที่ตนมีภูมิลำเนาและให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด

9. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียงในการออกเสียงแต่ละครั้งตามที่กำหนด โดยให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการและกรรมการเป็นไปตามที่กำหนด และให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียง เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

10. กำหนดให้คณะกรรมการจัดให้มีหีบบัตรออกเสียงและบัตรออกเสียง โดยมีลักษณะที่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง ลักษณะและขนาดของหีบบัตรออกเสียง บัตรออกเสียงและวิธีการลงคะแนนในบัตรออกเสียงให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการลงคะแนนออกเสียงและการนับคะแนน และกำหนดเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง การอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการและผู้สูงอายุในการลงคะแนนออกเสียง

11. กำหนดให้เปิดหีบบัตรออกเสียงต่อหน้าประชาชน ณ ที่ออกเสียงแล้วดำเนินการนับคะแนนโดยเปิดเผย ณ ที่ออกเสียงจนเสร็จ โดยมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนนกำหนดลักษณะของบัตรเสีย เช่น บัตรปลอม บัตรที่ทำเครื่องหมายเป็นที่สังเกต และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการนับคะแนนใหม่หรือการลงคะแนนออกเสียงใหม่ หรือการที่ไม่สามารถนับคะแนนได้อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย และการประกาศผลการออกเสียง

12. กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใด เห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มีสิทธิยื่นคำคัดค้านโดยมีรายละเอียดแห่งพฤติการณ์หรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการออกเสียงนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อคณะกรรมการตามระยะเวลาที่กำหนด

13. กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษจำคุก ปรับ หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง กรณีการฝ่าฝืน หรือการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดตามฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และผู้นั้นเป็นผู้กระทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมอันเป็นเหตุให้ต้องมีการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงใด ให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการออกเสียง ในหน่วยออกเสียงที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการสั่งให้ต้องมีการออกเสียงใหม่นั้นด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2563

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ