ยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาพรวมของประเทศในระยะยาว (5 - 10 ปี)

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2020 18:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศ ในระยะยาว (5 ? 10 ปี) (ยุทธศาสตร์ฯ) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ. รายงานว่า

1. สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในระดับกระทรวง [สธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม (กห.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ] และระดับหน่วยงาน (คณะแพทยศาสตร์ของ 19 มหาวิทยาลัยกับ 12 เขตสุขภาพ) จัดทำยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน จัดทำแผนกำลังคนตามการจัดระบบบริการโดยเขตสุขภาพ ของ สธ. (Service delivery & HR blueprint) สนับสนุนการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ขาดแคลน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ฯ ที่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ฯ ซึ่งประกอบด้วย 6 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (ศูนย์ฯ) ตามเขตพื้นที่การปกครองของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งแต่ละศูนย์ฯ ประกอบด้วยเครือข่ายหลักและเครือข่ายร่วม อาทิ พื้นที่ภาคเหนือมีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเครือข่ายหลัก และมีเครือข่ายร่วม เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยุทธสาสตร์ฯ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ (3) การลดความเหลื่อมล้ำของการได้รับบริการและสถานพยาบาล ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. วิสัยทัศน์

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์

2. พันธกิจ

พัฒนาและส่งเสริม

  • ขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันด้านสุขภาพกับต่างประเทศ
  • ให้มีสถานบริการสุขภาพระดับ Excellence Center ครอบคลุมทุกภาค
  • สถาบันการศึกษามีความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ
  • การสร้างนวัตกรรม และการวิจัยทางด้านสุขภาพ

3. จุดมุ่งหมาย

  • ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้อย่าง สะดวก ทั่วถึง เพียงพอ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • การบริการทางการแพทย์สามารถแข่งขันกับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทย มีความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา และการวิจัย ทางการแพทย์
  • เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสุขภาพ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ให้เกิดความคุ้มค่า เต็มศักยภาพ เกิดการพัฒนาในระดับความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศและการพัฒนาศักยภาพรองรับการให้บริการด้านสุขภาพในระดับสากล

4. เป้าประสงค์

ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Excellence Center)

ศูนย์กลางการศึกษาด้านการแพทย์ (Academic Excellence Center)

ศูนย์กลางการวิจัยทางการแพทย์ (Research Excellence Center)

5. ตัวชี้วัด

1. อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ มะเร็ง การบาดเจ็บ และการแพทย์ฉุกเฉิน ทารกแรกเกิดลดลงตามเป้าที่กำหนด (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข)

2. การส่งต่อออกนอกเขตสุขภาพลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

3. อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 80 ปี

6. กรอบยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (Competitive Advantage)

  • เน้นการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาการศึกษาเฉพาะทาง
  • การพัฒนางานวิจัยในระดับสากล หรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ (Health Service System Strengthening)

  • เน้นการพัฒนาระบบการส่งต่อนอกเขตเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน ยุ่งยาก การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ การผลิตแพทย์เฉพาะทาง
  • การพัฒนางานวิจัยในระดับประเทศหรือระดับสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของการได้รับบริการและสถานพยาบาล (Disparity of Services Rendering) เน้นการพัฒนาด้านพื้นฐานในเขตสุขภาพ 5 สาขาหลัก ได้แก่

  • หัวใจและหลอดเลือด
  • มะเร็ง
  • การบาดเจ็บและการแพทย์ฉุกเฉิน
  • ทารกแรกเกิด
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ

โดยยุทธศาสตร์ฯ ได้กำหนดผลที่คาดว่าจะได้รับ งบประมาณ รวมทั้งการติดตามและประเมินผล ดังนี้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ยกระดับคุณภาพบริการในระบบสุขภาพของประเทศเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนโดยรวมของประเทศ
  • พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์สถาบันการศึกษาในระดับภูมิภาค
  • มีเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่เทียบเคียงได้ในทุกภูมิภาค

งบประมาณดำเนินการ

ปีงบประมาณ - จำนวนเงิน (ล้านบาท)

2563 19,007

2564 16,398

2565 13,083

2566 ? 2570 14,135

รวมทั้งสิ้น 62,623

การติดตามและประเมินผล

  • รายกรอบยุทธศาสตร์ย่อย ติดตาม และประเมินผล โดยคณะกรรมการที่ได้ดำเนินการแต่งตั้ง
  • ภาพรวมของยุทธศาสตร์รายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นรายปี

2. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการและให้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ โดยมุ่งเน้นใน 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดดังกล่าวแล้ว ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ