สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2563

ข่าวการเมือง Tuesday November 3, 2020 17:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ดังนี้

ภาพรวม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.70 (YoY) การลดลงของเงินเฟ้อในเดือนนี้มีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (Ft) ในรอบเดือนกันยายน ? ธันวาคม 2563 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (YoY)

เงินเฟ้อในเดือนนี้แม้ว่าจะปรับลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยด้านอุปทานสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง นอกจากนี้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.70 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.94 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.99 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ค่าผ่านทางพิเศษ และการสื่อสาร (ค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ที่ลดลง หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.19 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.21 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ ค่าห้องพักโรงแรม) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.02 (เบียร์) ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (น้ำยาระงับกลิ่นกาย ค่าแต่งผมชาย) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.17 (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยกทรง เสื้อยืดสตรี) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (ค่าโดยสารเครื่องบิน) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.42 ตามการสูงขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.38 (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาหมึกกล้วย) ผักสด ร้อยละ 11.21 (ผักชี มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.25 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.71 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) และอาหารบริโภคในบ้าน ? นอกบ้าน ร้อยละ 0.51 และ 0.67 ตามลำดับ (ข้าวแกง/ข้าวกล่อง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด) ขณะที่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 0.94 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 0.28 (ไข่ไก่ นมสด) ผลไม้ ลดลงร้อยละ 1.80 (ส้มเขียวหวาน มะม่วง แตงโม เงาะ มะละกอสุก)

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.11 (MoM) ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.73 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.86 (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค. ? ก.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.99 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.3 (YoY) ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 ได้แก่ สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแผ่น ลวดเหล็ก บรรจุภัณฑ์โลหะ) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ตะกั่ว ตามภาวะราคาตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมสูงขึ้นร้อยละ 5.2 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง อ้อย พืชผัก (แตงกวา ผักคะน้า ผักกาดขาว) และผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน) ปริมาณผลผลิตลดลง จากปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ ผลปาล์มสด ยางพารา จากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประกอบกับปริมาณผลผลิตยางลดลง กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกร/ไก่มีชีวิตและไข่ไก่) ตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลานิล) ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค. ? ก.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.1 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.2 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการ และผู้ประกอบการปรับราคาลงเพื่อเร่งระบายสินค้า โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 5.5 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ? ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.8 (ชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง) หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป) ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องแกรนิต) ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของยาง มะตอย ยังคงเป็นผลจากโรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์มีการหยุดการผลิต (Shut down) ในช่วงไวรัสโควิด-19 หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ถังเก็บน้ำสแตนเลส) หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (โถส้วมชักโครก กระจกเงา ที่ปัสสาวะเซรามิก)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค. ? ก.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.4 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.1 เทียบกับระดับ 43.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบปี เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่กลับเข้าสู่ช่วงความเชื่อมั่น (สูงกว่าระดับ 50) ได้อีกครั้งในรอบ 11 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 50.4 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.2 สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในหลายสาขา

2. สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้ม

อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมทั้งราคาอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผักสด ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ