รายงานผลการประชุม High-Level Ministerial Conference on Human Resources Development for the Changing World of Work

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2020 19:17 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการประชุม High-Level Ministerial Conference on Human Resources Development for the Changing World of Work ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Vedio Conference)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รว.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ) (High - level Ministerial Conference on Human Resources Development for the Changing World of Work) ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ณ กระทรวงแรงงาน (รง.)

2. เห็นชอบต่อร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนดังกล่าว

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ ข้างต้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ รง. และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง

4. อนุติให้รัฐมนตรีว่าการกระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะประธาน คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ ในคราวประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 24 (เดือนพฤศจิกายน 2563)

5. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับทราบ (for notation) ร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 (ระหว่างวันที่ 11 - 15 พฤศจิกายน 2563)

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน (นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ณ รง. (ประชุมผ่านระบบ Video Conference) โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2563 เป็นประธานการประชุมดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การรับรองร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ

สาระสำคัญ เช่น

  • ไทยให้การรับรองในหลักการของร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ และจะได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป
  • สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเสนอร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ ต่อผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อรับทราบในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 (ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2563)
2. การเปิดตัวสภาการเทคนิคอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมแห่งอาเซียน

สาระสำคัญ เช่น

รับทราบขอบเขตอำนาหน้าที่ (TOR) ในการจัดตั้งสภาการเทคนิคฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 (มิถุนายน 2563) โดยสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ในฐานะ

ผู้ยกร่าง TOR จะเป็นประธาน (มีวาระ 2 ปี) และจะจัดให้มีการประชุมฯ อย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป โดยมีประเด็นเร่งด่วน คือ การส่งเสริมให้การอาชีวศึกษาเป็นไปอย่างมีนวัตกรรม

3. การกล่าวถ้อยแถลงของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนและรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนในประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางสังคมและการเตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อรองรับทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21

สาระสำคัญ เช่น

ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ? 19 เป็นปัจจัยเร่งให้โลกของงานเปลี่ยนแปลงไป จึงควรเน้นการดำเนินการ เช่น 1)ส่งเสริมการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของแรงงานทุกกลุ่ม 2) การเพิ่มบทบาทร่วมของภาคเอกชนในการส่งเสริมการปรับปรุงทักษะและเพิ่มทักษะ 3) การปฏิรูประบบการศึกษาโดยเพิ่มทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 และ 4) นโยบายการส่งเสริมนวัตกรรมอย่างบูรณาการโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 4. การกล่าวถ้อยแถลง หัวข้อการส่งเสริมบทบาทนำของภาคเอกชนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สาระสำคัญ เช่น

  • ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยปรากฏตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ทั้งนี้ รง. มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงาน พ.ศ. 2554 เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับลูกจ้าง โดยสถานประกอบการจะได้สิทธิประโยชน์ เช่น การลดหย่อนภาษีและการเข้าถึงกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
  • รง. จะได้นำร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนฯ มาประยุกต์ใช้ตามบริบทของไทยผ่านการส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนไตรภาคีต่อไป
ร่างแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วิสัยทัศน์ : การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนที่มีความพร้อมในอนาคตและมีสมรรถนะที่จะทำให้บุคลากรสามารถมีส่วนช่วยในการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสามารถในการแข่งขันและมีความสามารถในการปรับตัวในอาเซียน

ผลลัพธ์ที่ 1 : เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยในด้านการศึกษา ฝึกอบรมทักษะฝีมือ และการจ้างงาน

  • การลงทุนสำหรับการพัฒนาฝีมือแรงานให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกของงานที่กำลังเปลี่ยนไปโดยจัดหาและทบทวนนโยบายเพื่อสร้างการลงทุนที่มีแรงจูงใจโดยสถานประกอบการที่มีการฝึกอบรมทักษะฝีมือให้แก่ลูกจ้าง
  • นโยบายที่มีประสิทธิภาพและข้อริเริ่มตลอดทุกขั้นการศึกษาและการฝึกอบรม และการพัฒนาทักษะฝีมือในองค์กรเพื่อให้ตรงกับทักษะฝีมือที่จำเป็นทั้งในปัจจุบันและอนาคตและยินยอมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและการพัฒนาเส้นทางอาชีพ

ผลลัพธ์ที่ 2 : พัฒนาการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม และการจ้างงานสำหรับทุกคน

  • ปรับปรุงการเข้าถึงและการฝึกอบรมทักษะฝีมือที่มีคุณภาพรวมถึงโอกาสในการจ้างานสำหรับทุกคน โดยเฉพาะสตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชุมชนชนบท และคนที่ได้รับการจ้างานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสนับสนุน สตรี เด็กหญิง และกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการอาชีวศึกษา และส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ สื่อการเรียนรู้สาธารณะ การเรียนรู้ทางไกลแบบทางเลือก

ผลลัพธ์ที่ 3 อุปสงค์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสมรรถนะและคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

  • ระบบการศึกษาที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยส่งเสริมนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยที่ทันสมัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
  • ส่งเสริมการมีบทบาทนำของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • ระบบฐานข้อมูลตลาดแรงงานที่มีสามารถใช้ได้จริง

ผลลัพธ์ที่ 4 : การเข้าถึงโอกาสในการจ้างงาน การจ้างงาน งานที่มีคุณภาพ และความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบกิจการ

  • นโยบายด้านแรงงาน การศึกษา และเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันและตอบสนองต่อตลาดแรงงาน รวมถึงกรอบแผนงานเชิงสถาบัน

ผลลัพธ์ 5 : นโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์และการเงินที่ดี

  • นโยบายระดับชาติที่สอดคล้องกันด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แผนปฏิบัติ และกรอบแผนงานเชิงสถาบันโดยเสริมสร้างความเข้มแข็ง/จัดตั้งองค์กรร่วมในประเด็นคาบเกี่ยวการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรวมถึงภาคการศึกษา การฝึกอบรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และธรรมาภิบาลด้านแรงงาน
  • การเงินสำหรับการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย โดยแสวงหาแนวทางการจัดตั้งกองทุนการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และหุ้นส่วนอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนประเด็นเร่งด่วน และการศึกษาเกี่ยวกับทักษะที่ต้องการในอนาคต และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการการเงินสำหรับการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ