รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 19:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 มาตรา 11 (4) ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอรายงานเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563

1.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP MSME ยังคงขยายตัวได้สูงมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคของภาครัฐและภาคเอกชนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคการบริการยังคงเติบโตได้ในอัตราที่สูง

1.2 การค้าระหว่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 การส่งออกของ MSME มีมูลค่า 1,023,712.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งประเทศ ขยายตัวเล็กน้อยจากปี 2561 ในส่วนของการนำเข้าของ MSME มีมูลค่า 1,279,677.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ปรับตัวลดลงจากปี 2561 ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกและนำเข้าส่วนใหญ่เป็นของวิสาหกิจขนาดใหญ่และวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่าร้อยละ 86.6 และ 82.8 ตามลำดับ

1.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 อยู่ที่ระดับ 47.5 เท่ากับค่าเฉลี่ยของปี 2561 และเมื่อจำแนกตามกลุ่มธุรกิจพบว่า ผู้ประกอบการ MSME ภาคการค้าและ ภาคการบริการมีระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยในปี 2562 ลดลง ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ยังต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ไม่ดี นัก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เกิดจากความต้องการของตลาดโลกลดลง การย้ายฐาน การผลิตของนักลงทุนต่างชาติ สงครามการค้าระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริการวมทั้งค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งค่า รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME มีค่าสูงกว่าค่าฐานที่ 50 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอย และผลจากมาตรการ ?ชิม ช้อป ใช้? ซึ่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

1.4 จำนวนและการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2562 มี MSME จำนวน 3,105,096 ราย ขยายตัวจากปี 2561 ร้อยละ 1.1 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.5 ของจำนวนวิสาหกิจ ทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในสาขาธุรกิจขายปลีกมากที่สุด (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) รองลงมาคือสาขาธุรกิจการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มและสาขากิจกรรมการบริการอื่น ๆ ส่วนบุคคล ในส่วนของการจ้างงานของ MSME นั้น พบว่ามีจำนวน 12,060,369 คน ขยายตัวจากปี 2561 ร้อยละ 3.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.5 ต่อการ จ้างงานรวมทั้งประเทศ

1.5 การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ MSME และมาตรการส่งเสริม MSME ให้สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2562 มี MSME ที่ยื่นเสนอราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต่าง ๆ จำนวน 61,956 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ MSME ที่เป็นนิติบุคคลทั้งหมด โดยปัญหาหรืออุปสรรค ที่ MSME ไม่สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่ การเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเตรียมเอกสาร การวางหลักประกันทางการเงิน รายการเอกสารประกอบการยื่นเสนอราคามีจำนวนมาก และการให้ความสำคัญกับเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาราคาเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ MSME จะขาดความสามารถ ในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของ MSME ในเดือนกันยายน 2563 พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐแก้ไขมากที่สุดในประเด็นการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่ การปรับขั้นตอนและกฎระเบียบให้เข้าถึงได้ง่าย การปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันสัญญา การเร่งการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นการปรับเกณฑ์ราคาจัดซื้อจัดจ้างให้สูงขึ้น การกระจายโครงการให้เข้าถึงกิจการรายใหม่ การให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนระเบียบวิธีการเข้าถึง และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

1.6 ผลการสำรวจข้อมูล MSME ปี 2562 จากการสำรวจผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ จำนวน 2,058 ราย พบว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อยส่วนมากเป็นเพศหญิง โดยอยู่ในภาคการผลิตร้อยละ 72.6 ภาคการค้าร้อยละ 67.7 และภาคการบริการร้อยละ 72.1 ขณะที่รายจ่ายที่สูงที่สุดของ MSME คือรายจ่ายด้านค่าวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจในปี 2550 และปี 2562 พบว่า ผู้ประกอบการทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพิ่มสูงขึ้น

1.7 MSME กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ MSME เป็นอย่างมาก โดย สสว. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP MSME ในปี 2563 อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 6.2 (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ) ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นของ MSME 2,700 ราย พบว่า MSME มีแผนการปรับตัวทางธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 84.8 ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวในด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นรองลงมาคือการพัฒนาคุณภาพสินค้าและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และการเพิ่มประเภทสินค้าและรูปแบบการให้บริการ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่ MSME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมทักษะในการทำตลาดออนไลน์ การสนับสนุนต้นทุนขนส่งสินค้าและการประชาสัมพันธ์สินค้าออนไลน์ท้องถิ่น ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือโดยตรงต่อธุรกิจ MSME ที่มีความต้องการแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษี และเงินกู้ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ MSME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้แก่ การขาดหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอ ปัญหาด้านประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา และการขาดเอกสารหลักฐานแสดงรายได้

ทั้งนี้ สสว. ได้เสนอรายงานสถานการณ์ MSME ปี 2563 ต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 และได้เผยแพร่รายงาน MSME เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ของ สสว. รวมทั้งได้จัดส่งรายงานให้กับ 573 หน่วยงานแล้ว โดยภาพรวมของการใช้ประโยชน์จากรายงานฯ พบว่า มีการนำไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 92.8 และนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุดในการจัดทำนโยบาย และ/หรือยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริม MSME คิดเป็น ร้อยละ 87.0 รองลงมา คือ นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการหรือแผนงาน/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 86.7 2. สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2563

2.1 มูลค่า GDP MSME ในไตรมาสที่สามของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาสก่อนที่ลดลงถึงร้อยละ 17.1 โดยมีมูลค่า 1,318,037.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศ เท่ากับร้อยละ 34.1 ส่งผลให้ภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 GDP MSME ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.7 คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับร้อยละ 34.0 ในส่วนของสถานการณ์ MSME ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 คาดว่า ธุรกิจในภาคการค้าและภาคการบริการจะสามารถฟื้นตัวเร่งขึ้นกว่าไตรมาสที่สาม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

2.2 มูลค่าการส่งออกของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 621,484.6 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.8 โดยมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด มีเพียงตลาดสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวได้ร้อยละ 31.1 ขณะที่สินค้าส่งออกของ MSME ที่ยังขยายตัวได้ คือ สินค้าในกลุ่มผลไม้สด กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบและกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 22.1 และ 1.7 ตามลำดับ

2.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของ ปี 2563 มีค่าเท่ากับ 42.5 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 46.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ระดับ 52.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อการดำเนินธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ผลดี ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจที่จะออกมาใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐทั้งในรูปแบบของเงินอุดหนุนและ การลดหย่อนภาษี หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ

2.4 การจดทะเบียนนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีจำนวน 50,178 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.9 ในขณะที่มีกิจการยกเลิกจำนวน 10,393 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.5

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ