การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 18:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้

1. รับทราบความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย การเข้าถึงบทบัญญัติในกฎหมาย และการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

2. เห็นชอบการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่มีผู้รักษาการหลายคนยังไม่ตรงกัน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างผู้รักษาการร่วมกันในกฎหมายฉบับนั้น ตามรายชื่อกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด (ตามเอกสารท้ายหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 6 มกราคม 2564)

3. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและการเข้าถึงบทบัญญัติในกฎหมาย ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ ตามรายชื่อกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด (ตามเอกสารท้ายหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 6 มกราคม 2564) โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบ เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

4. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบว่า มีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายตามมาตรา 22 หรือไม่ โดยให้เร่งออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังนี้

(1) ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

(2) ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในการออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าว หน่วยงานของรัฐต้องคำนึงถึงระยะเวลาใน การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี รวมตลอดทั้งระยะเวลาที่เหมาะสมในการออกกฎนั้นด้วย

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอว่า

1. โดยที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดภารกิจและหลักเกณฑ์สำหรับหน่วยงานของรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

1.1 หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย ได้แก่ การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และการตรวจสอบเนื้อหาของร่างกฎหมาย

1.2 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

1.3 การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย

2. สคก. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้รับผิดชอบการขับเคลื่อน การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงขอรายงานความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และโดยที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายมีภารกิจหน้าที่บางประการที่ต้องดำเนินการทันทีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงจำเป็นต้องเร่งรัดและกำหนดแนวทางดำเนินการของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกำหนดเวลาและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประกอบกับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอาจเสนอแนะการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาได้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปกฎหมายตามมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. รายงานผลการดำเนินการในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยสรุปมีดังนี้

1.1 การดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

หน่วยงานได้ประกาศรายชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์และระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์แล้ว แต่ยังปรากฏว่ามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกัน ดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่หน่วยงานประกาศไม่ตรงตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากมีบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้กำหนดข้อมูลดังกล่าว

(2) ข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่มีผู้รักษาการหลายคนยังไม่ตรงกัน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติระหว่าง ผู้รักษาการร่วมกันในกฎหมายฉบับนั้น สคก. จึงได้พิจารณาภารกิจตามกฎหมายและได้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างผู้รักษาการร่วม

1.2 การดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าถึงบทบัญญัติในกฎหมาย

(1) ข้อมูลที่เผยแพร่ในส่วนกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ในความรับผิดชอบของตนให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งปรากฏว่ามีบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ในความรับผิดชอบของตนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลในระบบกลางเพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

(2) ข้อมูลที่เผยแพร่ในส่วนคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายสำหรับที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 หน่วยงานที่มีกฎหมายในความรับผิดชอบไม่เกิน 5 ฉบับ มีหน้าที่จัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายในความรับผิดชอบของตนภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งปรากฏว่ามีบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้จัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายในความรับผิดชอบของตน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลในระบบกลางเพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

1.3 การดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

(1) โดยที่มาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้ โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว

(2) ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายใด มีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่ากฎหมายนั้นมีกรณีต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 หรือไม่ และหากมีกรณีต้องออกกฎหรือดำเนินการใด ให้กระทำภายในเวลาที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนด ทั้งนี้ หากมิได้ออกกฎหรือดำเนินการใดจนเป็นเหตุให้บทบัญญัติของกฎหมายเป็นอันสิ้นผลบังคับลง หรือเป็นผลให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับโดยไม่ต้องมีกฎ หรือดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 22 วรรคสอง หน่วยงานของรัฐหรือผู้มีหน้าที่ย่อมต้องรับผิดชอบ และรับผิดทั้งในทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง หากเกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

1.4 การเผยแพร่คำแปลกฎหมายในเว็บไซต์ของ สคก. ก่อนที่จะมีระบบกลาง สคก. ได้ดำเนินการเผยแพร่คำแปลกฎหมายในเว็บไซต์ www.Krisdika.go.th ไว้แล้ว จำนวน 429 ฉบับ ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 9 ฉบับ พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด จำนวน 357 ฉบับ และกฎหมายลำดับรอง จำนวน 63 ฉบับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ