รายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เรื่อง กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 18:57 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เรื่อง กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (สำนักงาน ป.ป.ท.)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เรื่อง กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. สำนักงาน ป.ป.ท. ได้นำกลไกการเฝ้าระวังฯ เสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติทราบแล้วในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 และได้แจ้งเวียนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ปลัดกระทรวง 20 กระทรวง และหน่วยงานภายในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อแจ้งหน่วยงานในสังกัดหรือกำกับที่มีการเสนอของบประมาณตามพระราชกำหนดดังกล่าวรับทราบและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานตามกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณและมีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 2-1/2564 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564
2. สำนักงาน ป.ป.ท. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดฯ หรือ ?ศูนย์ไทยเฝ้าระวัง? ในสำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแสการทุจริต โดยมีการดำเนินการตามกลไกในการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ 4 ด้าน ดังนี้

กลไกการดำเนินงาน /สาระสำคัญโดยสรุป

การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส

  • จัดทำเว็บไซต์ ?ไทยเฝ้าระวัง? เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานในแผนงานหรือโครงการให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมเฝ้าระวังการทุจริต และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงาน โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์ ThaiME ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • จัดทำช่องทางร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ ?ไทยเฝ้าระวัง? โดยเชื่อมโยงข้อมูลเรื่องร้องเรียนกับสายด่วน 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี เว็บไซต์ภาษีไปไหนของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เว็บไซต์ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งแก้ไขความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ
  • ขอความร่วมมือคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยประสานเครือข่ายสภาตำบลทั้ง 7,791 แห่ง และหน่วยงานภายใน ศอตช. บูรณาการการทำงานร่วมกันในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ประสานเป็นเครือข่ายแจ้งเรื่องร้องเรียนและเบาะแสการทุจริตในโครงการ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลโครงการตามพระราชกำหนดฯ ให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อให้ประสานเครือข่ายโทรทัศน์ เครือข่ายวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และวิทยุชุมชน ประมาณ 4,000 สถานี เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย

การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต

  • สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณและศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ของหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการที่ได้รับอนุมัติ และร่วมกันจัดทำมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในโครงการ รวมทั้งเผยแพร่ประเด็นความเสี่ยงการทุจริตในแต่ละโครงการเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเฝ้าระวังการทุจริต ใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบเชิงป้องปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานทำการเฝ้าระวังและกวดขันไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น
  • ศปท. กำกับ ติดตามการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตและรายงานผลดำเนินการไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. ทุก 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันได้ประเมินความเสี่ยงการทุจริตในโครงการระดับกระทรวง จำนวน 33 โครงการ และระดับจังหวัด จำนวน 59 โครงการ เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ?โคก หนอง นา โมเดล? โดยนำร่องตรวจสอบ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน
  • สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานภานใน ศอตช. เช่น มท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด ดำเนินมาตรการป้องปรามการทุจริตในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การตรวจสอบ

  • กรณีมีการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. ได้แต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการ โดยกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเฉพาะและบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน สำนักงาน ป.ป.ท. ได้จัดทำระบบรับเรื่องร้องเรียน ศอตช. ทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบบรองรับการส่งต่อเรื่องและติดตามการดำเนินงานในการตรวจสอบแบบ real time ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประชาชนร้องเรียนการทุจริตผ่านเว็บไซต์ ?ไทยเฝ้าระวัง? เกี่ยวกับโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการของกรมการปกครอง และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ?โคก หนอง นา โมเดล? ของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 10 เรื่อง ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลการทุจริต จำนวน 7 เรื่อง และอยู่ระหว่างตรวจสอบ จำนวน 3 เรื่อง

การดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัย อาญา

สำนักงาน ป.ป.ท. ได้เปิดใช้งานระบบรายงานข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการติดตาม ตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ในกรณีมีข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ โดยระบบสามารถติดตามและส่งต่อข้อมูลการดำเนินงานจากหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดผ่านการรายงานของ ศปท. ไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. แบบ real time รวมถึงแจ้งเตือนการดำเนินงานภายในระยะเวลาที่กำหนด (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ