สรุปประเด็นจากการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชาติชาย พุคยาภรณ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2009 14:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดังนี้

1. รับทราบปัญหาของราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในจังหวัดกาญจนบุรีและแนวทางแก้ไขในเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมหลากในฤดูฝนและขาดแคลนในฤดูแล้ง ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด ปัญหาการรับจำนำมันสำปะหลังและปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. และเอกสารสิทธิ์อื่น ๆ และให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดการปฏิบัติให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทาวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชาติชาย พุคยาภรณ์) ได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2552 และได้รับทราบปัญหาต่าง ๆ จากราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ สรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาน้ำท่วมหลากในฤดูฝนและขาดแคลนในฤดูแล้ง พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรีอยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมหลากในฤดูฝนอยู่เสมอ

การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น

  • โครงการชลประทานกาญจนบุรีจัดทำแผนแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัด
  • สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี ปี 2552 ได้ดำเนินงานโครงการบ่อน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 117 บ่อ และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวน 2 บ่อ ขนาดประมาณ 43,000 และ 11,800 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้ระดับหนึ่ง
  • สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรีได้ประสานงานกับสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรให้ดำเนินการจัดทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและพิจารณาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดกาญจนบุรี
  • การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเฉพาะหน้า โดยใช้เงินทดรองราชการเพื่อ
ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 50 ล้านบาท (เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด)

2. ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด จังหวัดกาญจนบุรีประสบปัญหาแมลงนูนหลวงระบาด โดยเฉพาะในอ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นระยะที่ทำความเสียหายแก่ต้นพืชมากที่สุด

การแก้ปัญหาในเบื้องต้น

  • องค์กรปกครองส่วงท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการรับซื้อแมลงนูนหลวงในระยะต่างๆ มาทำลาย เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงนูนหลวง ซึ่งเคยดำเนินการเมื่อปี 2550 ได้ผลดีในระดับหนึ่ง
  • การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก รวมกับน้ำหมักชีวภาพ เพื่อปรับปรุงดินให้ร่วนซุยและช่วยให้อินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นทำให้ดินไม่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงนูนหลวง

3. ปัญหาการรับจำนำมันสำปะหลัง เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังประสบปัญหากรณีลานมันลำปะหลังที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำมันสำปะหลังไม่เพียงพอ

การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ขนย้ายมันสำปะหลังจากลานมันไปไว้ที่คลังกลางเพื่อให้ลานมันสามารถรับจำนำมันสำปะหลังจากเกษตรกรได้ต่อไป

4. ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. และเอกสารสิทธิ์อื่น ๆ ราษฎรบางส่วนที่มิได้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินในปี พ.ศ. 2520 ต้องการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เช่น โฉนด/นส. 3 แต่เนื่องจากการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอทำให้ที่ดินที่จะออกโฉนดต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสาร สค. 1 มาแต่เดิมเท่านั้น โดยที่มีราษฎรบางส่วนไม่มีเอกสาร สค. 1 ดังกล่าว จึงไม่สามารถดำเนินการร้องขอออกโฉนดได้

การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น

  • ปัจจุบันได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดิน และออกโฉนดให้กับราษฎรผู้ร้องขอ
  • สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำลังดำเนินการแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตการปฏิรูปที่ดินท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและพิจารณายกร่างแล้วเตรียมการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของราษฎรส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานดังนี้

1. ปัญหาน้ำท่วมหลากในฤดูฝนและขนาดแคลนน้ำต่อเนื่องซ้ำซากในฤดูแล้ง

1.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำแผนงานโครงการปลูกป่า อนุรักษ์ป่าต้นน้ำในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับจังหวัดกาญจนบุรี

1.2 กระทรวงมหาดไทย

(1) ในระดับจังหวัด ทำแผนงานและโครงการสัมพันธ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้ความสำคัญกับปัญหาอุทกภัยและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกับการอนุรักษ์ทุกรูปแบบ

1.3 กระทรวงกลาโหม แหล่งต้นน้ำและป่าไม้ตามแนวชายแดนซึ่งมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและความมั่นคงเข้ามาช่วยเหลือให้ความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดกาญจนบุรีในการดำเนินการ

1.4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดนำแนวทางและโครงการสร้างเขื่อน ฝ่าย และระบบชลประทาน

2. ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดินร่วมกันจัดทำแผนงานโครงการต่อเนื่องทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวร่วมกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ

กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตในรูปแบบตลาดข้อตกลง (Contract Farming)

4. ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินและจังหวัด กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ส.ป.ก. ร่วมกันดำเนินการแก้ไข

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ