ขอความเห็นชอบให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติลงนามความตกลงเพื่อเข้าเป็นสมาชิก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 14:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติลงนามความตกลงเพื่อเข้าเป็นสมาชิก

(Asia Pacific Metrology Programme : APMP)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในเชิงนโยบายให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ดำเนินการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ Asia Pacific Metrology Programme (APMP)

2. สำหรับค่าสมาชิกรายปีและการดำเนินงานให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตามที่เสนอ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า

1. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติในสาขารังสีก่อไอออน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบการวัดแห่งชาติมีความเข้มแข็งและสามารถ ถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดสู่ผู้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติด้านรังสีก่อไอออนในด้านต่างๆ ตามแผนพัฒนางานมาตรวิทยา สาขารังสีก่อไอออน ดังนี้

1.1 ปรับปรุงเงื่อนไขห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

1.2 พัฒนาระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการ

1.3 พัฒนาการให้บริการสอบเทียบ

1.4 พัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา

1.5 ระดมความร่วมมือและช่วยเหลือจากต่างประเทศ

1.6 พัฒนากำลังคน

1.7 พัฒนาสภาวะแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ

2. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้เข้าร่วมโครงการ Technical Peer Review on the Secondary Standard Dosimetry Laboratory on Ionizing Radiation Area เมื่อวันที่ 5-6 มกราคม 2552 เพื่อยืนยันความสามารถของห้องปฏิบัติการสอบเทียบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านการสอบเทียบและการตรวจวัด (Calibration and Measurement Capabilities : CMCs) ในสาขารังสีก่อไอออนต่อไป

อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นหน่วยงานด้านรังสีก่อไอออน จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับจากหน่วยงานมาตรฐานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ซึ่งการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ APMP นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยงานมาตรฐานหนึ่งด้านการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติสาขารังสีก่อไอออน

3. ความมุ่งหมายของบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขของความร่วมมืออันจะก่อให้เกิดการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติในสาขารังสีก่อไอออน (Ionizing Radiation) กล่าวคือ

3.1 เป็นการพัฒนาระบบมาตรวิทยาและเสริมสร้างขีดความสามารถของการถ่ายทอดค่าวัดจากมาตรฐานปฐมภูมิ (Primary Standards) ของประเทศ สู่มาตรฐานทุติยภูมิ (Secondary Standards) ในสาขารังสีก่อไอออน (Ionizing Radiation) เพื่อให้ระบบการวัดแห่งชาติมีความเข้มแข็งสามารถถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดสู่ผู้ใช้งานภายในประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ในพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540

3.2 เป็นการสร้างการยอมรับในระดับสากลในสาขารังสีก่อไอออน (Ionizing Radiation) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาเทคโนโลยีการวัดในสาขานี้โดยเฉพาะ ให้เป็นที่เชื่อถือในขีดความสามารถของการวัดในระดับนานาชาติ

4. จากการหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ทราบว่า แม้ว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ดี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการนำเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 เห็นควรขอรับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในเชิงนโยบายก่อนดำเนินการ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่รับผิดชอบในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติพิจารณาแล้วสนับสนุนและเห็นชอบให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สมัครเข้าเป็นสมาชิก APMP การเป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการเป็นสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ดังนี้

4.1 ค่าสมาชิกรายปี ๆ ละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ

4.2 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีขององค์กรระหว่างประเทศ APMP ประมาณปีละ 300,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเทศที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ