ผลการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 15:01 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 4

และการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี สมัยที่ 2

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 4 และการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี สมัยที่ 2 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 4

หัวข้อสำคัญของการประชุมระดับสูงเน้นในประเด็นความท้าทายในการปลอดสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (The challenges of Persistent Organic Pollutants (POPs) free future) โดยที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นความท้าทาย 4 ประเด็นหลัก กล่าวคือ การเลิกใช้สาร POPs การร้องขอให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณากำหนดรายชื่อสารเคมีเพิ่มเติม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน และการบรรลุเป้าหมายของอนุสัญญาฯ ในการปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสาร POPs ที่ประชุมรัฐภาคีฯ สมัยที่ 4 ได้มีมติข้อตัดสินใจในประเด็นสำคัญต่างๆ กล่าวคือ

  • การเห็นชอบให้บรรจุรายชื่อสารเคมี 9 ชนิด เพิ่มเติมเข้าไว้ในภาคผนวก เอ บี และซี ของอนุสัญญาฯ คือ 1) สาร Alpha-hexachlorocyclohexane 2) สาร Beta-hexachlorocyclohexane 3) สาร Hexabromobiphenyl 4) สารChlordecone 5) สาร Pentachlorobenzene 6) สาร Commercial pentabromodiphenyl ether 7) สาร Commercial octabromodiphenyl ether 8) สาร Lindane และ 9) สาร Perfluorooctane sulfonic acid, its salts and perfluorooctane sulfonyl fluoride (PFOS)
  • การรับรองข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบูรณาการความร่วมมือและการประสานงานระหว่างอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาบาเซลฯ ในด้านการประสานงานในการจัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านเทคนิควิชาการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเสริมสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน ตลอดจนด้านการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
  • การรับรองสถานะศูนย์ระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ 8 แห่ง เป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิควิชาการและอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี
  • การพิจารณากลไกด้านการเงินและแหล่งเงินทุนสนับสนุน ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐภาคีได้รับทราบการประเมินความต้องการงบประมาณในการสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2557 เป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้องขอให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) พิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณในรอบที่ 5 ของ GEF ต่อไป
  • การรับรองแผนงานและงบประมาณประจำปีพ.ศ. 2553 เป็นเงิน 5,839,267 เหรียญสหรัฐ และงบประมาณประจำปีพ.ศ. 2554 เป็นเงิน 5,873,643 เหรียญสหรัฐ

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงท่าทีของประเทศไทยในการประชุมระดับสูงในการสนับสนุนการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ โดยเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มความสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการและการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อให้สามารถจัดการกับสารเคมีที่เพิ่มเติมใหม่ด้วย และผู้แทนไทยได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมครบองค์ประชุม (Plenary) และการประชุมของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ รวมทั้งการเจรจาขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศพัฒนาแล้วต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย (ดร. จารุพงศ์ บุญ-หลง) ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants Review Committee :POPRC) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่ออีกสมัยหนึ่งด้วย

2. การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี สมัยที่ 2 (ICCM-2)

หัวข้อการประชุมในครั้งนี้ เน้นประเด็นการติดตามการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การดำเนินการระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management: SAICM) ที่ได้ให้การรับรองแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ณ กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ กล่าวคือ “การผลิตและการใช้สารเคมีในทางที่จะนำไปสู่การลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมภายในปีพ.ศ. 2563” ซึ่งที่ประชุมได้มีมติข้อตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญๆ กล่าวคือ 1) กฎระเบียบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ (Rule of Procedure) 2) รูปแบบการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน 3) การประเมินผลการดำเนินงาน และแนวทางการปรับปรุงแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ฯ 4) แนวทางความร่วมมือด้านเทคนิคและการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ฯ 5) นโยบายเร่งด่วนที่ควรให้ความสนใจและร่วมมือกันดำเนินกิจกรรม 4 ประเด็น คือ (1)นาโนเทคโนโลยีและการผลิตวัสดุนาโน (nanotechnology and manufactured nanomaterials) (2) สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (chemicals in products) (3) สารตะกั่วในสี (lead in paints) และ(4) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (electronic wastes) รวมทั้งข้อตัดสินใจเกี่ยวกับกรอบแผนงบประมาณสำหรับปีพ.ศ. 2552 - 2555

คณะผู้แทนไทยได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมครบองค์ประชุม (Plenary) และการประชุมของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ อาทิ กลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มพิจารณาประเด็นนโยบายเร่งด่วน การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในคณะกรรมการพิจารณาโครงการของ Quick Start Programme Trust Fund (QSP Executive Board) ต่ออีกหนึ่งสมัย รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Quick Start Programme ในการจัดทำโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ หลายโครงการ

นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการจัดการสารเคมีและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มเตรียมการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ Bronze Award จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) อีกด้วย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการให้การสนับสนุนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และยุทธศาสตร์การดำเนินการระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ