กทท.เร่งเครื่องท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่งมอบพื้นที่จบ พ.ค.69 คาดเปิดอย่างเร็วปลายปี 70

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 16, 2025 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กทท.เร่งเครื่องท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่งมอบพื้นที่จบ พ.ค.69 คาดเปิดอย่างเร็วปลายปี 70

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานครบรอบ 74 ปี ในการก่อตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า การก้าวสู่ปีที่ 75 กทท.มีงานที่ต้องเร่งรัด คือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลมีความล่าช้า ซึ่งตนได้ติดตามเร่งรัดจนปัจจุบันงานทำได้ตามแผนมีความคืบหน้าประมาณเกือบ 70% โดยได้ประสานกับกิจการร่วมค้า CNNC ผู้รับจ้าง เพื่อเร่งรัดงานถมทะเล ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.-พ.ค.2569 และจะสามารถส่งมอบพื้นที่ท่าเรือชายฝั่ง F1 ให้กับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ผู้รับสัมปทาน พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งถือว่าเร็วขึ้น 2 เดือน จากที่สัญญากำหนดส่งมอบภายในเดือนมิ.ย. 2569 และคาดว่าทาง GPC จะก่อสร้างและเปิดให้บริการในท่าเรือ F1 ได้ประมาณปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571

กทท.เร่งเครื่องท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่งมอบพื้นที่จบ พ.ค.69 คาดเปิดอย่างเร็วปลายปี 70

*ไม่ย้ายท่าเรือกรุงเทพ

ในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ยืนยันไม่มีการย้ายท่าเรือ แต่จะมุ่งการพัฒนาทั้งเครื่องมือ และบุคลากร และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีผลกระทบกับประชาชน และชุมชน แต่จะมีการพัฒนาเมืองยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย


*จับตาสถานการณ์ส่งออกจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ

นางมนพรกล่าวว่า จากกรณีนโยบายภาษีของสหรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้าส่งออกของไทยด้วยนั้น ขณะนี้รัฐบาลเตรียมการเจรจากับสหรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบ ซึ่งให้กทท.ติดตามสถานการณ์ นำเข้าส่งออกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ เพราะการบริหารจัดการท่าเรือเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับประเทศและภูมิภาคเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลก

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า จากมาตรการภาษีของสหรัฐ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก 68 มีการเร่งส่งออกมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก เพราะเกรงมาตรการเรื่องภาษีดังกล่าว ซึ่งกทท.ได้ติดตามสถานการณ์ เพราะหาก เรื่องภาษีเป็นปกติ อาจทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง


*โชว์กำไรปี 67 นิวไฮ

ในส่วนของผลประกอบการในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา กทท. มีรายได้สูงสุดรวม 17,224 ล้านบาท ถือเป็น New Record ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน โดยในปีงบประมาณ 2565 มีกำไรสุทธิ 6,276 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 มีกำไรสุทธิ 6,666 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 มีกำไรสุทธิ 7,648 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง

ด้านผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) มีกำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวม 7,371 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.95% สินค้าผ่านท่า 61.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.10% และตู้สินค้าผ่านท่า 5.56 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.35%

สำหรับท่าเรือระนองมีสินค้านำเข้า - ส่งออกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเมียนมา ส่งผลให้ปริมาณเรือ ตู้สินค้า และสินค้าผ่านท่าเพิ่มสูงขึ้นโดยผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 131 เที่ยว เพิ่มขึ้น 49% ตู้สินค้าผ่านท่า 3,170 ตู้ เพิ่มขึ้น 371% สินค้าผ่านท่า 79,810 ตัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในส่วนของความคืบหน้าโครงการสัตว์ส่งออกมีชีวิตของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่นั้น มีผลการดำเนินการส่งออกสัตว์ (สุกร) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบฯ อยู่ที่ 1,964 ตัว ส่งผลให้มีผลประกอบการในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม กทท. ยังมีโครงการที่ยังต้องสานต่ออีกหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีความคืบหน้า ณ เดือนพฤษภาคม 2568 ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอยู่ที่ 68.30% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค กทท. ได้ส่งมอบพื้นที่และออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนย้ายสินค้าอยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนเอกสารประกวดราคา ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 4 ส่วนงานต้องสอดคล้องต่อเนื่องกัน

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ได้พิจารณาตามผลการศึกษาแผนแม่บทของ สนข. โดยในจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีความชัดเจนในตำแหน่งที่ตั้งและประชาชนในพื้นที่ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนเพิ่มเติมที่เหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาโครงการในพื้นที่ สำหรับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและนครสวรรค์อยู่ระหว่างการวางแผนการศึกษาเพื่อขยายโครงการในอนาคต ทั้งนี้ยังมีแผนการศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สถานีภาชี) และจังหวัดราชบุรี (สถานีหนองปลาดุก) เป็นต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาท่าเรือบกของ กทท. โดยเร็วต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ