ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อบริหารงานครบ 3 เดือน พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 14:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อบริหารงานครบ 3 เดือน พ.ศ. 2552 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อบริหารงานครบ 3 เดือน โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 7,800 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 — 20 เมษายน 2552 ภายหลังจากที่รัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานครบ 3 เดือน เพื่อติดตามการบริหารงานของรัฐบาล ความพึงพอใจ รวมทั้งสิทธิ์ หรือประโยชน์ที่ครัวเรือนได้รับจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งมีสาระสำคัญจากความคิดเห็นของประชาชนประมวลและสรุปได้ดังนี้

1. ประชาชนร้อยละ 82.8 ระบุว่าติดตามการปฏิบัติงาน/การนำเสนอผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล โดยผู้ติดตามฯ เป็นประจำมีร้อยละ 22.5 และติดตามฯ เป็นบางครั้งมีร้อยละ 60.3 มีเพียงร้อยละ 17.2 ที่ระบุว่าไม่ได้ติดตามฯ นอกจากนั้น ประชาชนร้อยละ 45.2 ระบุว่าติดตามรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นประจำร้อยละ 7.5 ติดตามเป็นบางครั้งร้อยละ 37.7 และมีร้อยละ 54.8 ที่ไม่ได้ติดตาม โดยร้อยละ 29.1 ของผู้ที่ติดตามรายการฯ ให้ข้อเสนอแนะรายการ ดังนี้ ควรปรับเพิ่มเวลาการนำเสนอรายการ (ร้อยละ 26.5) ปรับเพิ่มเนื้อหาสาระให้เข้มข้น (ร้อยละ 24.4) และควรชี้แจงข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ และด้านการศึกษา (ร้อยละ 13.1)

2. นโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ระบุว่าทราบ คือ การให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ (ร้อยละ 96.8) นมโรงเรียน (ร้อยละ 92.2) การสนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปี (ร้อยละ 92.0) การจัดสรรเงิน 2,000 บาท (ร้อยละ 91.9) และ 5 มาตรการ 6 เดือน (ร้อยละ 90.9)

3. ประชาชนที่ระบุว่าทราบนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลได้ให้ความคิดเห็น ดังนี้

3.1 นโยบายการจัดสรรเงิน 2,000 บาท มีครัวเรือนร้อยละ 35.8 ที่สมาชิกในครัวเรือน ระบุว่ามีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ และร้อยละ 3.4 มีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ ร้อยละ 59.9 ที่ไม่มีสิทธิ์ และร้อยละ 0.9 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ซึ่งนโยบายนี้ประชาชนร้อยละ 87.6 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 12.4 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์มีความพึงพอใจมากที่สุด (ร้อยละ 94.7) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 83.7) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 83.5)

ประชาชนร้อยละ 83.0 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีก และร้อยละ 17.0 ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ระบุว่าเห็นด้วยมากที่สุด (ร้อยละ 90.7) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 84.1) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 78.3)

3.2 นโยบายการสนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปี มีครัวเรือนร้อยละ 53.9 ที่สมาชิกในครัวเรือนระบุว่ามีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ มีเพียงร้อยละ 2.3 มีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ ร้อยละ 40.7 ที่ไม่มีสิทธิ์ และร้อยละ 3.1 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ซึ่งนโยบายนี้ประชาชนร้อยละ 98.2 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 1.8 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์มีความพึงพอใจมากที่สุด (ร้อยละ 98.8) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 97.9) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 91.9)

ประชาชนร้อยละ 97.9 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีก มีเพียงร้อยละ 2.1 ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ระบุว่าเห็นด้วยมากที่สุด (ร้อยละ 98.4) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 97.7) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 92.4)

3.3 นโยบายการฝึกอบรมแรงงาน มีครัวเรือนเพียงร้อยละ 4.3 ที่สมาชิกในครัวเรือนระบุว่า มีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ และร้อยละ 7.7 มีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ ร้อยละ 80.5 ที่ไม่มีสิทธิ์ และร้อยละ 7.5 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ซึ่งนโยบายนี้ประชาชนร้อยละ 96.4 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีก มีเพียงร้อยละ 3.6 ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ระบุว่าเห็นด้วยมากที่สุด (ร้อยละ 97.6) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 96.5) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 94.5)

3.4 นโยบายการให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ มีครัวเรือนร้อยละ 38.1 ที่สมาชิกในครัวเรือน ระบุว่ามีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ มีเพียงร้อยละ 2.3 มีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ ร้อยละ 57.7 ที่ไม่มีสิทธิ์ และร้อยละ 1.9 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ซึ่งนโยบายนี้ประชาชนร้อยละ 98.1 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 1.9 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์มีความพึงพอใจมากที่สุด (ร้อยละ 99.1) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 97.9) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 90.4)

ประชาชนร้อยละ 98.9 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีก มีเพียงร้อยละ 1.1 ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์และได้ใช้สิทธิ์ระบุว่าเห็นด้วยมากที่สุด (ร้อยละ 99.5) ตามด้วยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีสิทธิ์ (ร้อยละ 98.7) และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 95.9)

3.5 นโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน มีครัวเรือนร้อยละ 69.0 ระบุว่าได้รับประโยชน์ และร้อยละ 31.0 ระบุว่าไม่ได้รับประโยชน์ โดยมาตรการที่ครัวเรือนได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย/เดือน (ร้อยละ 75.0) ซึ่งครัวเรือนได้รับประโยชน์เฉลี่ยเดือนละ 172.35 บาท ตามด้วย การใช้น้ำประปาฟรี 30 ลบ.ม./เดือน ซึ่งครัวเรือนร้อยละ 30.9 ได้รับประโยชน์โดยได้รับประโยชน์เฉลี่ยเดือนละ 148.42 บาท และการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งครัวเรือนร้อยละ 19.3 ได้รับประโยชน์ ในขณะที่การใช้รถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศฟรี ในเขต กทม.และปริมณฑล ซึ่งครัวเรือนร้อยละ 9.9 ได้รับประโยชน์โดยได้รับประโยชน์เฉลี่ยเดือนละ 270.61 บาท สำหรับการใช้รถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรีนั้น ร้อยละ 2.6 ของครัวเรือนได้รับประโยชน์โดยได้รับประโยชน์เฉลี่ยเดือนละ 192.42 บาท

สำหรับนโยบายนี้ประชาชนร้อยละ 96.4 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 3.6 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ระบุว่าพึงพอใจ (ร้อยละ 98.2) ซึ่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่ได้รับประโยชน์ (ร้อยละ 92.4)

3.6 นโยบายการจัดสรรค่าตอบแทนให้ อสม. ประชาชนร้อยละ 97.3 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 2.7 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนเป็น อสม. และกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่เป็น อสม. มีความพึงพอใจไม่แตกต่างกันคือร้อยละ 97.2 และ 97.3 ตามลำดับ

ประชาชนร้อยละ 96.3 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีก มีเพียงร้อยละ 3.7 ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนเป็น อสม. ระบุว่าเห็นด้วย (ร้อยละ 98.2) ซึ่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่สมาชิกในครัวเรือนไม่เป็น อสม. (ร้อยละ 95.8)

3.7 นโยบายนมโรงเรียน ประชาชนร้อยละ 97.0 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 3.0 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีบุตร/หลานศึกษาอยู่ในระดับอนุบาล — ป. 6 มีความพึงพอใจ (ร้อยละ 97.7) ซึ่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีบุตร/หลานศึกษาอยู่ฯ (ร้อยละ 96.0)

ประชาชนร้อยละ 97.9 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีก มีเพียงร้อยละ 2.1 ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีบุตร/หลานศึกษาอยู่ฯ ระบุว่าเห็นด้วย (ร้อยละ 98.7) ซึ่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีบุตร/หลานศึกษาอยู่ฯ (ร้อยละ 96.8)

3.8 นโยบายการเพิ่มค่าครองชีพให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ประชาชนร้อยละ 94.9 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 5.1 ที่ไม่พึงพอใจ โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีคนในครัวเรือนเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ มีความพึงพอใจ (ร้อยละ 96.5) ซึ่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีคนในครัวเรือนเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ (ร้อยละ 94.6)

3.9 นโยบายชุมชนพอเพียง ประชาชนร้อยละ 97.7 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีกและร้อยละ 2.3 ระบุว่าไม่เห็นด้วย

3.10 นโยบายการกู้เงินจากต่างประเทศ ประชาชนร้อยละ 45.2 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายการกู้เงินจากต่างประเทศ และร้อยละ 54.8 ระบุว่าไม่เห็นด้วย

3.11 นโยบายการเพิ่มภาษีเหล้า — บุหรี่ ประชาชนร้อยละ 75.7 ระบุว่าเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายนี้ และร้อยละ 24.3 ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีคนในครัวเรือนไม่ดื่มเหล้า — สูบบุหรี่ ระบุว่าเห็นด้วย (ร้อยละ 83.7) ซึ่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีคนในครัวเรือนดื่มเหล้า — สูบบุหรี่ (ร้อยละ 72.2)

4. ประชาชนร้อยละ 80.9 ได้แสดงความคิดเห็นและเห็นว่าปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรแก้ไข 5 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจการเงินของประเทศ/การส่งออก (ร้อยละ 57.4) ความขัดแย้งของคนในสังคมไทย (ร้อยละ 36.3) การว่างงาน/การฝึกอาชีพ (ร้อยละ 26.9) พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ (ร้อยละ 17.6) และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความมั่นคง (ร้อยละ 14.7)

5. ประชาชนร้อยละ 32.3 ได้ให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่สำคัญ 5 อันอับแรก คือ การสร้างความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศ (ร้อยละ 48.3) การสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม (ร้อยละ 21.1) การจัดทำนโยบายระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ (ร้อยละ 9.3) การแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ด้วยความเสมอภาค (ร้อยละ 7.7) และการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ (ร้อยละ 5.3)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ