คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-มิถุนายน) ดังนี้
1. การส่งออก
1.1 การส่งออกเดือนมิถุนายน 2552
1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 12,334.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 25.9 แต่ดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคมร้อยละ 5.8 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 421,842 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20.5 แต่ดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคมร้อยละ 2.5
1.1.2 สินค้าส่งออก การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 23.0 เมื่อเทียบกับมิถุนายนของปีที่ผ่านมา แต่สูงกว่าเดือนพฤษภาคมร้อยละ 11.8 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 26.4 แต่สูงกว่าเดือนพฤษภาคมร้อยละ 3.4 และสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 27.1
1.1.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักลดลงร้อยละ 32.7 ตลาดใหม่ลดลงร้อยละ 18.3
1.2 การส่งออกในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.)
1.2.1 การส่งออก มีมูลค่า 68,207.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.5 และเมื่อคิดในรูปเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 2,372,949.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.1
1.2.2 สินค้าส่งออก ส่งออกลดลงในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลง ร้อยละ 22.2 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 21.9 และสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 30.9
(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการ ในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น แต่ กุ้ง ไก่ และ น้ำตาล การส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออก ข้าว มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ส่งออกลดลง
(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 168.2) ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ ร้อยละ 3.2 และอาหารสัตว์เลี้ยง ร้อยละ 2.3
- สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และ ส่วนประกอบเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง นาฬิกาและส่วนประกอบ ของเล่น เป็นต้น
(3) สินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 30.9 ที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 47.7 , 41.6 และ 31.5 ตามลำดับ
1.2.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักลดลงร้อยละ 31.9 และตลาดใหม่ลดลงร้อยละ 14.4 ทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.5 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเป็นร้อยละ 46.5
(1) ตลาดหลัก ส่งออกลดลงในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 36.4 , 32.9 , 28.7 และ 27.0 ตามลำดับ
(2) ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงทุกตลาด ได้แก่ ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 39.8) ไต้หวัน(34.4) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 30.5) เกาหลีใต้(ร้อยละ 21.6) อินโดจีน(ร้อยละ 20.5) ฮ่องกง(ร้อยละ 18.4) จีน(ร้อยละ 18.3) อินเดีย(ร้อยละ 12.8) ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 12.3) ออสเตรเลีย(ร้อยละ 10.1) และแอฟริกา(ร้อยละ 2.8)
2. การนำเข้า
2.1 การนำเข้าเดือนมิถุนายน 2552
2.1.1 การนำเข้า มูลค่า 11,397.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 29.3 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 394,140.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.0
2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่มีการนำเข้าลดลงดังนี้
(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 2,335.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.8 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาค่อนข้างมากถึงร้อยละ 48.1 การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ นำเข้าปริมาณ 28.9 ล้านบาร์เรล (962,504 บาร์เรลต่อวัน) มูลค่า 1,894.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 และมูลค่า ลดลงร้อยละ 31.9
(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 2,927.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.3 การนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 29.2
- เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลง ร้อยละ 22.2
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง ร้อยละ 16.4
(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 4,664.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.8 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสำคัญ ได้แก่
- อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 6.9
- เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 35.4
- ทองคำ นำเข้าปริมาณ 19.8 ตัน มูลค่า 596 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 142.6 และ 154.8 ตามลำดับ
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 72.4 และ 74.1 ตามลำดับ
(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้ามูลค่า 1,135.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.9 การนำเข้า สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ได้แก่
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ลดลงร้อยละ 14.9
- เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร กระเป๋า เป็นต้น นำเข้ามูลค่า 188.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.5
- ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ลดลงร้อยละ 7.7
(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้ามูลค่า 322.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 36.1
2.2 การนำเข้าในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-มิถุนายน)
2.2.1 การนำเข้าการนำเข้ามีมูลค่า 57,215.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 35.4
2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ
(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 10,201.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.9 เป็นการ นำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 147.8 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 มูลค่า 7,652.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 49.5
(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 16,567.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.5 เป็นการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 19.1 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 27.6 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 27.1
(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 22,454.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 40.7 เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 30.1 เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 44.4 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 58.7 ทองคำ ลดลงร้อยละ 27.9
(4) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 6,118.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.5 เป็นการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ลดลงร้อยละ 19.8 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ลดลงร้อยละ 21.0 ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัช ลดลงร้อยละ 8.5
(5) กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่า 1,712.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 36.9 เป็นการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ลดลงร้อยละ 40.5
3. ดุลการค้า
3.1 ดุลการค้าเดือนมิถุนายน 2552 ไทยเกินดุลการค้า 936.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 27,701.9 ล้านบาท
3.2 ดุลการค้าในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยเกินดุลการค้า 10,991.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้า 361,527.0 ล้านบาท
4. ข้อสังเกต
4.1 ถึงแม้ว่าภาพรวมการนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2552 เทียบกันเดือนมิถุนายน 2551 จะลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เมื่อเทียบกับการนำเข้าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในไตรมาสต่อไป
4.2 เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่กาส่งออกสินค้าสำคัญมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา สินค้าอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม เช่นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า) เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น และในขณะเดียวกันมูลค่า การส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มที่ดีขึ้นเช่นกัน ทั้งในตลาดหลัก โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ อาเซียน(5) และตลาดใหม่ โดยเฉพาะจีน อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดจีน ตะวันออกกลาง และ แคนาดา
4.3 แม้ว่าภาวะตลาดโลกมีการแข่งขันสูงแต่ละประเทศมีการนำเข้าลดลง แต่สินค้าไทย ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดที่สำคัญ ๆ ได้และยังขยายส่วนแบ่งสินค้าไทย ในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น เช่น
ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดส่งออกสำคัญ (ร้อยละ)
ปี 2551 ปี 2552 (มค.- ) - สหรัฐฯ 1.12 1.20 (มค.-เมย.) - ญี่ปุ่น 2.73 2.84 (มค.-พค.) - สหภาพยุโรป 0.96 1.06 (มค.-มีค.) - จีน 2.27 2.44 (มค.-พค.) - ฮ่องกง 2.27 2.72 (มค.-พค.) - อินเดีย 0.89 1.07 (มค.) - ไต้หวัน 1.35 1.64 (มค.-เมย.) - ออสเตรเลีย 4.52 5.74 (มค.-เมย.) - แคนาดา 0.58 0.61 (มค.-เมย.)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 --จบ--