ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2009 11:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 40 ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ร่างมาตรา 2)

2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้คุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการและลูกจ้างทั้งหมด (ร่างมาตรา 3)

3. แก้ไขบทนิยามคำว่า ลูกจ้าง ทุพพลภาพ และภัยพิบัติ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 4 ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างโดยให้เลือกกันเอง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกำหนดอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)

5. กำหนดให้การได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ตามกฎหมายอื่น และแก้ไขระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาที่เลขาธิการกำหนด และกำหนดขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน และแก้ไขวิธีการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ (ร่างมาตรา 25 ถึงร่างมาตรา 27)

6. กำหนดให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนมีหน้าที่เลือกสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับบริการทาง การแพทย์และกำหนดสิทธิหากมีเหตุจำเป็นกรณีไม่อาจเข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล (ร่างมาตรา 28)

7. กำหนดให้ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน แต่การประสบอันตรายหรือทุพพลภาพที่มิใช่จากการทำงานในช่วงเวลาเดียวกันมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ประเภทเดียว (ร่างมาตรา 29)

8. แก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร หลักเกณฑ์และอัตราการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพและกรณีถึงแก่ความตาย และแก้ไขให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือทุพพลภาพ หรือผู้ประกันตนซึ่งรับบำนาญชราภาพมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย (ร่างมาตรา 30 ถึงร่างมาตรา 34)

9. กำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างซึ่งไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (ร่างมาตรา 39)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ