รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 29 กันยายน — 5 ตุลาคม 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 29 กันยายน — 5 ตุลาคม 2552) สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์น้ำในภาพรวม

  • สภาพภูมิอากาศ มีฝนตกกระจาย โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่
  • สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีอ่างที่มีน้ำมากกว่า 80 % จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนจุฬาภรณ์ที่ชัยภูมิ เขื่อนลำปาวที่กาฬสินธุ์ เขื่อนสิรินธรที่อุบลราชธานี เขื่อนป่าสักที่ลพบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ที่กาญจนบุรี เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนประแสร์ที่ระยอง และเขื่อนรัชชประภาที่สุราษฎร์ธานี
  • สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ แต่มีแม่น้ำสายสำคัญบางสายที่มีน้ำล้นตลิ่ง คือ แม่น้ำวังที่สามเงา ตาก แม่น้ำป่าสักที่วิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ แม่น้ำชีที่เมืองชัยภูมิ และที่มัญจาคีรี ขอนแก่น แม่น้ำมูลที่สตึก บุรีรัมย์ ที่ราศีไศล ศรีสะเกษ และที่เมืองอุบลราชธานี ลำปลายมาศที่ลำปลายมาศบุรีรัมย์ ลำชีที่เมืองสุรินทร์ ห้วยทับทันที่ห้วยทับทัน ศรีสะเกษ ห้วยสำราญที่เมืองศรีสะเกษ ห้วยขะยุงที่กันทรารมย์ ศรีสะเกษ ส่วนแม่น้ำที่มีระดับน้ำมาก คือ แม่น้ำปิงที่เมืองกำแพงเพชร และที่บรรพตพิสัย นครสวรรค์ แม่น้ำน่านที่ชุมแสง นครสวรรค์ แม่น้ำป่าสักที่เมืองเพชรบูรณ์ แม่น้ำมูลที่เฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา

2. สถานการณ์น้ำท่วมในรอบสัปดาห์ มีพื้นที่น้ำท่วม 25 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ตาก ลำพูน กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ มุกดาหาร เลย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ยโสธร ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชลบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง และนราธิวาส

3. การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ช่วงวันที่ 6-12 ตุลาคม 2552

คาดว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน จะส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับพายุโซนร้อน “ป้าหม่า (PARMA)” จะเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ บริเวณเกาะไหหลำ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 และจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม พายุลูกนี้จะสลายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ส่วนพายุไต้ฝุ่น “(MELOR)” คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นทางทิศเหนือและไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

4. พื้นที่เฝ้าระวังเตือนภัยน้ำท่วม จากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำในปัจจุปันมีพื้นที่จะต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ต่อไป จำนวน 17 จังหวัด ประกอบด้วย สระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ลพบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ยะลา และนราธิวาส

กรณีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากอิทธิพลของพายุกิสนา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือนั้น ในช่วงวันที่ 6-8 ตุลาคม 2552 ปริมาณน้ำนี้จะไหลผ่านนครสวรรค์มาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง รวมแล้วจะมีปริมาณน้ำ 2,600 ลบ.ม./วินาที ซึ่งทางกรมชลประทานได้วางแผนในการผันน้ำออกทุ่งตะวันออกและทุ่งตะวันตก ออกคลองบางแก้วและแม่น้ำลพบุรี และจะเหลือปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอ่างทองประมาณ 1,900 ลบ.ม./วินาที แต่หน้าตัดลำน้ำสามารถรับน้ำได้ 1,800 ลบ.ม./วินาที ทำให้อาจจะมีน้ำล้นตลิ่งเล็กน้อย และจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

5. พื้นที่เฝ้าระวังเตือนภัยด้านการขาดแคลนน้ำ จำนวน 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และมหาสารคาม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ