สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)”(ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-12 ตุลาคม 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 16:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 12 ตุลาคม 2552 สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่ เกิดขึ้น รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าว นำเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 12 ตุลาคม 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ ลำพูน เพชรบูรณ์ เลย ตาก ลพบุรี ชัยนาท ระนองนครราชสีมา สุโขทัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 122 อำเภอ 671 ตำบล 4,961 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 1 คน (จ.ลำปาง) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 835,267 คน 206,001 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 9 หลัง เสียหายบางส่วน 419 หลัง ถนน 1,055 สาย สะพาน 73 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 1,523 บ่อ พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 378,064 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

1.2 ตารางสรุปความเสียหายจากพายุ “กิสนา” (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 12 ตุลาคม 2552)

ลำดับที่   ประเภทความเสียหาย                จำนวนความเสียหาย
1       พื้นที่ประสบอุทกภัย                   24 จังหวัด (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง

นครสวรรค์ ลำพูน เพชรบูรณ์ เลย ตาก ลพบุรี ชัยนาท ระนอง นครราชสีมา สุโขทัย

กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา) 122 อำเภอ

671 ตำบล 4,961 หมู่บ้าน

2       ประชาชนได้รับความเดือดร้อน          835,267 คน  206,001 ครัวเรือน
3       ผู้เสียชีวิต                         1 คน (อ.แม่พริก จ.ลำปาง)
4       บาดเจ็บ                          -
5       บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง              9 หลัง
6       บ้านเรือนเสียหายบางส่วน             419 หลัง
7       ถนนเสียหาย                       1,055 สาย
8       สะพาน                           73 แห่ง
9       บ่อปลา/กุ้ง                        1,523 บ่อ
10      ปศุสัตว์                           1,048 ตัว
11      สัตว์ปีก                           12,110 ตัว
12      พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ  378,064 ไร่
        มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น            อยู่ระหว่างการสำรวจ

1.3 สถานการณ์ปัจจุบัน คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง นครสวรรค์ ลพบุรี เลย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ตาก กำแพงเพชร ชัยนาท กาฬสินธุ์ สิงห์บุรี และจังหวัดปทุมธานี

ปัจจุบัน (12 ตุลาคม 2552) ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พิษณุโลก พิจิตร นครราชสีมา สุโขทัย อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนี้

1) จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำยมน้ำล้นตลิ่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ (ฝั่งขวาแม่น้ำยม) ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตตำบลปากพระ ตำบลยางซ้าย และยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำบางพื้นของอำเภอเมือง และอำเภอศรีสำโรง แนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 วัน

2) จังหวัดพิษณุโลก น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำของ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางระกำ และอำเภอพรหมพิราม รวมประมาณ 15,000 ไร่ แนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 สัปดาห์

3) จังหวัดพิจิตร ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทรายพูน บางมูลนาก และอำเภอสามง่าม ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

4) จังหวัดอ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง 4 ตำบล คือ ตำบลจำปาหล่อ (หมู่ที่ 1,4,6) ตำบลบ้านอิฐ (หมู่ที่ 10) ตำบลลาดกรวด (หมู่ที่ 1,2) และตำบลบางแก้ว (ชุมชนบ้านรอ) อำเภอป่าโมก ที่ตำบลโผงเผง (หมู่ที่ 1-7,9) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.40 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 539 ครัวเรือน 2,117 คนระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 สัปดาห์

5) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอบ้านแพรก และอำเภอนครหลวง เฉพาะชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับความเดือดร้อนเป็นบางส่วน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.30 เมตร ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 สัปดาห์

6) จังหวัดชัยภูมิ ระดับน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอบ้านขว้า ที่ตำบลลุ่มน้ำชี และอำเภอจัตุรัส 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลส้มป่อย ตำบลบัวบาน และตำบลละหาน ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

7) จังหวัดนครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อำเภอพิมาย ที่ตำบล ในเมือง ที่สถานีวัดน้ำ M.184 น้ำเอ่อล้นตลิ่ง 0.75 เมตร (เพิ่มขึ้น 0.01 เมตร) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.25-0.45 เมตร ระดับน้ำทรงตัว คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

8) จังหวัดบุรีรัมย์ น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอลำปลายมาศ ที่ตำบลหนองคู ตำบลบ้านไผ่น้อย และตำบลฝายแท่นพระ ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ใน 1-2 วัน

9) จังหวัดศรีสะเกษ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสะพานขาว ชุมชนโนนสวรรค์ ชุมชนโนนงาม และชุมชนพันทาน้อย ระดับน้ำที่สถานีหนองหญ้าปล้อง วัดได้ 11.13 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 2.13 เมตร (ตลิ่ง 9 เมตร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนเป็นบางพื้นที่ของ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูสิงห์ ห้วยทับทัน ปรางค์กู่ อุทุมพรพิสัย และอำเภอเมือง

10) จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง (เทศบาลนครอุบลราชธานี 17 ชุมชน 401 ครัวเรือน 1,665 คน) อำเภอวารินชำราบ (เทศบาลเมืองวารินชำราบ 11 ชุมชน 389 ครัวเรือน 1,335 คน) ระดับน้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M.7) วัดได้ 7.77 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.77 เมตร (ตลิ่ง 7 เมตร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่ราบลุ่มของลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำชี และลำมูล ในเขตอำเภอเขื่องใน ดอนมดแดง เดชอุดม และอำเภอเมือง

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 สิ่งของพระราชทานผู้ประสบภัยพายุ “กิสนา”

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชุมพร ลำพูน ตาก อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง จำนวน 22,360 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลขาธิการสภากาชาดไทย นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดนครราชสีมา อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,000 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 12,000 ขวด ดังนี้

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช ประธานที่ปรึกษากองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ นำถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน จำนวน 1,000 ชุด ไปมอบให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่โรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม ตำบลบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552

4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน สามัญประจำบ้าน และน้ำดื่ม ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ลำปาง ศรีสะเกษ ตาก บุรีรัมย์ อุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 4,710 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 2,600 ชุด น้ำดื่ม 24,000 ขวด และเสื้อยืดแขนสั้น จำนวน 2,000 ตัว

5) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ทรงโปรดให้ นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทาน พร้อมตรวจเยี่ยมและจัดรถประกอบอาหารเคลื่อนที่แจกจ่ายแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย จังหวัดสุโขทัย จำนวน 1,465 ชุด และจัดรถประกอบอาหารเคลื่อนที่แจกจ่ายแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือ จังหวัดสุโขทัย

2.2 นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัย และมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 ที่วัดสีกุก ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จำนวน 1,000 ชุด และที่วัดโคกทอง ตำบลกุฎี อำเภอผักไห่ จำนวน 1,000 ชุด

2.3 กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งมอบหมายให้รัฐมนตรี กำกับ ติดตาม ดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยและอุบัติภัย และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือรัฐมนตรี ดังนี้

1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) กำกับ ติดตาม ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ

2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์) กำกับ ติดตาม ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) กำกับ ติดตาม ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้

1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมคณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์ และมอบถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท จำนวน 1,000 ชุด และที่อำเภอหันคา จำนวน 1,000 ชุด ตรวจการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ที่สำนักงาน ชป.ที่ 12 และตรวจการเตรียมพร้อมของ จังหวัดอ่างทอง ในการรับมือกับสภาวะน้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่ง

2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์) พร้อมคณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์ และมอบถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่อำเภออุทุมพรพิสัย 1,000 ชุด อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 1,000 ชุด และที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 2,000 ชุด และที่จุดอพยพในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ จำนวน 200 ชุด

2.4 การให้ความช่วยเหลือของจังหวัดที่ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งได้ระดมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) ต่อไป

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2552

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 11-13 ตุลาคม 2552 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส และหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาจะเคลื่อนลงมาปกคลุม อ่าวไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง พายุโซนร้อน “ป้าหม่า” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีทิศทางการเคลื่อนที่ทางตะวันตก คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เกาะไหหลำในวันที่ 12 ตุลาคม 2552 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ