สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552 — 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 14:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552 — 2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

ตามที่ สศช. ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2552 และแนวโน้มปี 2552-2553 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 นั้น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในช่วงต่อไป

1.1 ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 2.8 (เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยที่สุดหลังจากหดตัวร้อยละ 7.1 และ 4.9 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 รวม 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทย หดตัวร้อยละ 5.0

1.2 เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยปรับผลของฤดูกาลออกแล้วขยายตัวร้อยละ 1.3 (% QoQ SA) นับเป็นการขยายตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันต่อจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่ 2 ประกอบกับดัชนีเศรษฐกิจรายเดือนอื่น ๆ ของปีนี้เริ่มปรับตัวเป็นบวก โดยเฉพาะการค้าส่งค้าปลีกที่สะท้อนออกมาในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นโดยลำดับหลังจากที่ลดลงต่ำสุดเมื่อตอนต้นปี อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการลดลงของสินค้าคงเหลือของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มรอบการทำงานเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่เพิ่มขึ้น จึงเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนอย่างต่อเนื่อง

1.3 เครื่องชี้สำคัญที่แสดงถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีและในปีหน้า ได้แก่

(1) การผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีอัตราต่ำสุดที่ร้อยละ 54.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดร้อยละ 64.7 ในเดือนกันยายน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรที่เชื่อมโยงกับภาคการส่งออกที่มีการฟื้นตัวของตลาดโลก

(2) จำนวนผู้ว่างงาน เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่เคยสูงสุดเมื่อเดือนมกราคม ที่ร้อยละ 2.4 หรือจำนวนผู้ว่างงาน 878,900 คน ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.2 หรือจำนวนประมาณ 458,100 คนในเดือนกันยายน

(3) การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในเดือนกันยายน จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 17.4 และอัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.6 จากจุดต่ำสุดร้อยละ 40.8 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้คาดว่านักท่องเที่ยวจะขยายตัวชัดเจนในไตรมาสที่ 4 และจะส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีประมาณ 13.7 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมายเพียงเล็กน้อย (เป้าหมาย 14 ล้านคน เป้าหมายรายได้ท่องเที่ยว 505,000 ล้านบาท)

(4) การส่งออก เริ่มฟื้นตัวในหลายสาขาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้อัตราการหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยติดลบสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ที่ร้อยละ 26.5 และติดลบน้อยที่สุดในเดือนกันยายนร้อยละ 8.3 และเดือนตุลาคม ติดลบเพียงร้อยละ 3.0 ซึ่งในปี 2553 การดำเนินการเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) มากขึ้น จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น เช่น การส่งออกรถบรรทุกไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น

(5) ราคาสินค้าเกษตร เริ่มเพิ่มขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะขาดแคลนในบางประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันเนื่องมาจากประสบภัยธรรมชาติ เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น และที่สำคัญคือราคายางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของยางล้อรถยนต์ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาต่ำสุด 43 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมกราคม เป็นสูงสุด 65 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกันยายน ชี้ให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก

1.4 ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ยังต้องระมัดระวังในช่วงต่อไป ได้แก่

(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยภาวะการฟื้นตัวจะมาจากภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ซึ่งยังขยายตัวได้ระดับร้อยละ 8-9 แม้จะเริ่มระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและห้ามปล่อยสินเชื่อในหลายอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น ซึ่งได้ประกาศเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากมีความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อไปอีก ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงมีความเปราะบางและยังไม่ทั่วถึงทุกอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากการว่างงานในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก

(2) เนื่องจากในปี 2552 เป็นปีที่หลายประเทศประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จึงได้เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่แรงส่งของการส่งออกยังคงหดตัวตามการหดตัวของปริมาณการค้าโลกที่หดตัวประมาณร้อยละ 12.0 และสถานการณ์ดังกล่าวมีความต่อเนื่องถึงปี 2553 ที่คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวในอัตราต่ำประมาณร้อยละ 2.5 และประเทศในภูมิภาคเอเชียจะประสบกับการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินหยวนจากการที่จีนยังผูกค่าเงินติดกับดอลลาร์มากกว่าประเทศอื่น

(3) การลงทุนภาคเอกชน จะมีแรงกระตุ้นในปีหน้าเมื่อการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งดำเนินการได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นเต็มที่เมื่ออัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มสูงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้า และปัญหามาบตาพุดยังเป็นอุปสรรคให้การลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนชะลอออกไป

(4) ราคาน้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 75 — 85 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ และส่งผลถึงต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน

(5) รายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 ยังมีข้อจำกัดจากรายได้ภาษีซึ่งขึ้นอยู่กับฐานรายได้ปี 2552 การลดภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน และการชะลอลงของราคาน้ำมันเทียบกับราคาในปัจจุบันซึ่งมีผลของการเก็งกำไรในช่วงแรกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่มาก

2. ประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 และ 2553

2.1 ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก ในอัตราประมาณร้อยละ 2.7 - 3.2 จากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะติดลบประมาณร้อยละ 3.0 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเมื่อต้นปีว่าอาจติดลบถึงร้อยละ 4.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ -0.9 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 22.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 8.8 ของ GDP

2.2 เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 — 4.0 โดยมีการลงทุนภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นแรงผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดทั้งภายนอกและภายในประเทศตามข้อ 1.4 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 - 3.5 และการเกินดุลบัญชี เดินสะพัดลดลงเป็นร้อยละ 5.3 ของ GDP การประมาณแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2553 สรุปได้ดังนี้

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค (รวมภาครัฐและเอกชน) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2552 โดยที่การใช้จ่ายของครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.7 มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นรวมทั้งการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้ระดับรายได้ทั้งครัวเรือนภาคอุตสาหกรรม บริการและเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ในการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6

(2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 8.6 ในปี 2552 โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คาดว่าจะเร่งตัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 6.0 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคการผลิตยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับผลกระทบจากปัญหากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งภาคธุรกิจส่วนหนึ่งรอดูแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้มีความชัดเจนมากขึ้น

(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 13.7 ในปี 2552 โดยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานการส่งออกที่ต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีเนื่องจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศผู้ผลิต รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกทั้งสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ปรับตัวดีขึ้น เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 12.1 ในปี 2552

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 18.5 เป็นการขยายตัวจากฐานที่ต่ำตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การบริโภค รวมทั้งการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้คาดว่าภาคธุรกิจจะเริ่มสะสมสต็อกอีกครั้งหลังจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2552 ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าในกลุ่มวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรวมคาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12.4 เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 20.0 ในปี 2552

(5) ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลประมาณ 13.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 21.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 เป็นผลมาจากการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุล ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 14.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 5.3 ของ GDP

(6) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 — 3.5 เพิ่มขึ้นจากประมาณการอัตราเงินเฟ้อร้อยละ -0.9 ในปี 2552 เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นและอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัว

3. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2553

แม้ว่าแนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนขึ้นในปีนี้ และรัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงทีจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายน ก็ตาม แต่หัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นใจของการฟื้นตัวเต็มที่ของเศรษฐกิจไทย คือ ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2553 ซึ่งควรให้ความสำคัญใน 3 เรื่องดังนี้

3.1 ภาวะการฟื้นตัวที่เริ่มชัดเจนขึ้นในขณะนี้มาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 ต่อเนื่องถึงแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2553-2555 ซึ่งเป็นการเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจโดยภาครัฐมากขึ้น ในระยะเร่งด่วนของปี 2553 ต่อเนื่องจาก ปี 2552 จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนและผลักดันโครงการลงทุนของภาคเอกชนให้สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความชัดเจนของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเปิดกิจการใหม่หรือขยายกิจการเดิม

3.2 การเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนที่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2553 เป็นต้น จะสร้างประโยชน์ต่อโอกาสขยายการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย จึงควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าในตลาดอาเซียน รวมทั้งจากข้อตกลงการค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-เปรู และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น และควรจะเร่งรัดการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสขยายกำลังการผลิตและขยายตลาดให้เชื่อมโยงได้ระหว่างอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่

3.3 ประสานนโยบายการเงินและการคลังในการสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง แม้ว่าขณะนี้แนวโน้มการจัดเก็บภาษีจะปรับตัวดีขึ้นและสามารถลดภาวะการขาดดุลการคลัง ลงไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีก็ตาม แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีการบริโภคน้ำมัน ซึ่งยังคงมีข้อจำกัดด้านรายได้ภาครัฐ โดยเฉพาะผลมาจากการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ รวมทั้งกรอบความ ตกลงการค้าเสรีอาเซียนในปี 2555 ดังนั้นจึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการขาดดุลทางการคลังต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยจะต้องประสานการดำเนินนโยบายการเงิน การบริหารสภาพคล่อง และการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความมั่นใจให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ