การเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 17:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร และความเห็นของคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร และเห็นชอบให้เร่งรัดหน่วยงานดำเนินการตามข้อ 2 — 7 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญ

ในคราวประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมมีมติรับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการ และรายงานผลการติดตามโครงการของคณะอนุกรรมการฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานในประเด็น (1) หลักเกณฑ์การใช้สิทธิชดเชยของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (2) การดำเนินงานโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกร (3) การกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัติ และกรอบระยะเวลาการดำเนินงานกรณีข้าวรอบ 2 (4) การดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ ในภาคใต้ และเห็นชอบให้ทบทวน (1) ระบบข้อมูล ทบก. ทพศ. การใช้ที่ดิน ปฏิทินและรูปแบบการปลูกพืช ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ (2) จังหวัดที่มีรายชื่อการขึ้นทะเบียน ทพศ. ที่คาดว่ามีการแจ้งพื้นที่มากผิดปกติ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552

                              ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์          มันสำปะหลัง                  ข้าว
                            จำนวนราย  ร้อยละของ   จำนวนราย    ร้อยละของ     จำนวนราย    ร้อยละของ
                                      ขึ้นทะเบียน               ขึ้นทะเบียน                 ขึ้นทะเบียน
1) การขึ้นทะเบียนผู้              393,110    104.29*   438,477      113.99*   3,291,336       88.59*
ปลูกพืช
2) ผ่านการรับรองโดย            388,753     98.89    430,805       98.25    3,188,410       96.87
ประชาคม                        (683)    (0.17)      (641)      (0.15)     (16,378)       (0.5)
(เพิ่มขึ้นจาก 10 พ.ย.52)
3) ธ.ก.ส. รับทะเบียนเกษตรกร    387,300     98.52    428,831        97.8    3,128,323       95.05
(เพิ่มขึ้นจาก 10 พ.ย.52)          (0.00)    (0.00)     (0.00)      (0.00)    (547,066)     (16.62)
4) ธ.ก.ส. ทำสัญญา             353,486     89.92    326,259       74.41    1,349,750       41.01
(เพิ่มขึ้นจาก 10 พ.ย.52)        (19,181)    (4.88)   (71,068)     (16.21)    (616,731)     (18.74)
5) การใช้สิทธิของเกษตรกร        121,562     30.92        238        0.05        8,750        0.27
(เพิ่มขึ้นจาก 10 พ.ย.52)        (76,634)   (19.49)      (227)      (0.05)      (7,372)      (0.22)
หมายเหตุ  * หมายถึงร้อยละของเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในกรณีข้าวซึ่งกำหนดทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2552 โดยยังเหลือกว่า 1,941,586 ราย นั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องเร่งทำสัญญาประกันรายได้เกษตรกรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีช่วงเวลาการเลือกใช้สิทธิมากขึ้น

2. หลักเกณฑ์การใช้สิทธิชดเชยของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

จากการที่ข้าวมีการเก็บเกี่ยวและขายออกสู่ตลาดเร็วขึ้น และเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวหอมมะลิในช่วงวันที่ 16 — 30 พฤศจิกายน 2552 ลดลงมาที่ระดับ 13,002 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรกรมีความต้องการใช้สิทธิในช่วงนี้เพราะจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างตันละ 2,298 บาท ขณะที่สัญญาที่เกษตรกรทำไว้ส่วนใหญ่ระบุวันใช้สิทธิหลัง 15 ธันวาคม 2552 เกษตรกรจึงมีความต้องการที่จะขอใช้สิทธิก่อนวันที่ระบุในระหว่างการทำสัญญา คณะกรรมการประสานฯ พิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติให้ใช้แนวทางเดียวกันกับการใช้สิทธิของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ปี 2552/53 ที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ทันทีนับถัดจากวันทำสัญญา โดยให้ระยะเวลา ธ.ก.ส. ตรวจสอบก่อนจ่ายเงินได้ไม่เกิน 15 วัน และให้สิ้นสุดการใช้สิทธิในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้นภาคใต้สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2553

3. การดำเนินงานโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกร

เพื่อลดแรงกดดันจากเกษตรกรที่ขายข้าวได้ในราคาต่ำในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะกรรมการประสานฯ เห็นสมควรแจ้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเร่งดำเนินงานโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อรอการจำหน่าย ปีการผลิต 2552/53 ของ ธ.ก.ส. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 โดยเร็ว ซึ่งควรเริ่มดำเนินการให้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2552

4. การกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัติ และกรอบระยะเวลาการดำเนินงานกรณีข้าวรอบ 2

ในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่เกษตรกรทำการปลูกข้าวนาปรังมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 48.2 ของการปลูกทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรอบที่ 2 มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการประสานฯ เห็นสมควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัติและกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน กรณีข้าวรอบที่ 2 เสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่มีความพร้อมเมื่อถึงกำหนดเวลา

5. การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรในภาคใต้

เพื่อให้การดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาของโครงการฯ คณะกรรมการประสานฯ เห็นสมควรให้คณะรัฐมนตรีเร่งรัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนดการที่ได้ตั้งไว้ให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

6. การทบทวนระบบข้อมูล ทบก. ทพศ. การใช้ที่ดิน รูปแบบและปฏิทินการปลูกพืช

คณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ได้ระบุข้อบกพร่องและสาเหตุความล่าช้าของการดำเนินโครงการประกันรายได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการดำเนินงานต่อไป คณะกรรมการประสานฯ เห็นสมควรให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน เร่งทบทวนข้อมูล ทบก. ทพศ. กับฐานข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ฐานข้อมูลด้านกายภาพของกรมพัฒนาที่ดิน และฐานข้อมูลที่ ธ.ก.ส. ใช้ทำสัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกที่แจ้งจดทะเบียนมากกว่าพื้นที่ที่มีอยู่จริง โดยควรมีระบบการเรียงลำดับข้อมูลตามประเภทของเอกสารสิทธิที่ใช้จดทะเบียนและลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งทบทวนข้อมูลชนิดของพืช และปฏิทินการเพาะปลูกที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอันเนื่องมาจากการใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวมากขึ้น รูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนจากการดำเป็นการหว่านในกรณีของข้าว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการปรับปรุงปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการของโครงการในปี 2553/54 มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น

7. จังหวัดที่มีรายชื่อการขึ้นทะเบียน ทพศ. ที่คาดว่ามีการแจ้งพื้นที่มากผิดปกติ

คณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ ได้ตรวจสอบข้อมูลในระดับพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในบัญชีพื้นที่ที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่คาดว่ามีการแจ้งพื้นที่มากผิดปกติ แล้วพบว่าข้อเท็จจริงเกิดจากการบันทึกข้อมูลคลาดเคลื่อน จึงเสนอให้คณะกรรมการประสานฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบข้อเท็จจริง และถอนชื่อจากบัญชีพื้นที่ที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่คาดว่ามีการแจ้งพื้นที่มากผิดปกติที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 คณะกรรมการประสานฯ เห็นสมควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และเร่งรัดให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สคก.) ตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่ที่มีความแตกต่างอย่างต่อเนื่อง และให้รายงานต่อคณะกรรมการประสานฯ ทุกสัปดาห์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ