รายงานผลการเข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on Food Security)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 15:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on Food Security) และการประชุมสมัชชา

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 36 ( 36th FAO Conference) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการเข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on Food Security) และการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สมัยที่ 36 ( 36th FAO Conference) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของไทย

สำหรับการจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิก FAO ที่เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 34 ล้านบาท ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 — 2554 นั้น ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดยขอให้ตกลงกับสำนักงบประมาณ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ให้เสนอขอตั้งงบประมาณต่อไป และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. ตามที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on Food Security) ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2552 และการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 36 ( 36th FAO Conference) ระหว่างวันที่ 18-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอรายงาน ผลการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ดังนี้

1.1 การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันขจัดความอดอยากหิวโหยอย่างจริงจัง ในการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนเข้าร่วมประชุม 182 ประเทศ/องค์กร จำนวนผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมกว่า 3,600 คน ซึ่งเป็นผู้แทนในระดับผู้นำรัฐบาล 60 คน และระดับรัฐมนตรีประมาณ 191 คน โดยการประชุมมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1.1.1 ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญา (Declaration) ที่แสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Will) ของประเทศสมาชิกในการเร่งขจัดความอดอยากหิวโหยและให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารและขจัดความยากจน โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนประชากรที่อดอยากหิวโหยและทุพโภชนาการให้ได้กึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2558

1.1.2 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (นายบัน คีมูน) ได้กล่าวในช่วงเปิดการประชุมว่าวิกฤติอาหารในปัจจุบันเป็นสัญญาณที่ปลุกเตือนสำหรับอนาคต (wake-up call for tomorrow) และความมั่นคงทางอาหารไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าขาดความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ (There can be no food security without climate security)

1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวถ้อยแถลงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งดำเนินการสร้างความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งประเทศไทยยังให้การสนับสนุนระบบการค้าเสรีและหวังว่าการเจรจารอบ โดฮาจะสามารถได้ข้อสรุปโดยเร็ว นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้กล่าวถึงผลการประชุม สุดยอดอาเซียนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ที่ผู้นำได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve ให้เป็นกลไกที่ถาวรเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของโลกด้วย

1.3 FAO จัดให้มีการประชุมโต๊ะกลม (Round Table Discussion) ควบคู่ไปกับการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก 4 หัวข้อ คือ

(1) การลดผลกระทบในทางลบของวิกฤตอาหาร วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเงินต่อความมั่นคงอาหารโลก (Minimizing the negative impact of the food, economic and financial crises on world food security)

(2) การดำเนินการในการปฏิรูประบบการควบคุมของความมั่นคงทางอาหารโลก (Implementation of the reform of global governance of food security)

(3) การปรับตัวและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : สิ่งท้าทายสำหรับการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (Climate change adaptation and mitigation : challenges for agriculture and food security)

(4) วิธีการในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารโลก : พิจารณาจากการพัฒนาชนบท เกษตรกรรายย่อย และการค้า (Measures to enhance global food security : rural development, smallholder farmers and trade considerations)

2. การประชุมสมัชชา FAO ( 36th FAO Conference) มีสมาชิกจาก 164 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรจากสหรัฐอเมริกา (Dr.Kathleen A. Merrigan) ได้รับเลือกเป็นประธานการประชุม สาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ดังนี้

2.1 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการของสมัชชาตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการปฏิรูปองค์การ FAO (CoC-IEE on the Immediate Plan of Action for FAO Renewal) รายงานภาวะอาหารและการเกษตรของโลก และรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสาขาต่าง ๆ

2.2 การกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าผู้แทนประเทศสมาชิกมีประเด็นหลักคือการเตรียมความพร้อมและการสนองตอบต่อภัยคุกคามต่าง ๆ โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเร่งด่วนฉุกเฉินหรือวิกฤตต่างๆ

2.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวย้ำถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะภัยพิบัติที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุด สำหรับประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ปี 2553-2562 โดยมีเป้าหมายในการป้องกัน การบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟู

2.4 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ 10 ปี ของ FAO (Strategic Framework 2553-2562) : ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเห็นโลกปราศจากความหิวโหยและทุพโภชนาการ (a world free of hunger and malnutrition)

2.5 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ (Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal , Unreported and Unregulated Fishing) โดยให้สมาชิกร่วมกันออกเสียงสนับสนุน แต่เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันทางกฎหมายให้ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติตาม ซึ่งอาจเข้าข่ายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้แทนไทยจึงงดออกเสียงสนับสนุนและไม่ได้ร่วมลงนามรับรองข้อตกลงซึ่งเปิดให้มีการลงนามในระหว่างการประชุมสมัชชาครั้งนี้ อย่างไรก็ดีโดยที่ความตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการทำประมงโดยส่วนรวมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเห็นควรให้มีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกตามขั้นตอน รวมทั้งดำเนินการปรับแก้กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติภายในประเทศให้เอื้อต่อการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวต่อไป

2.6 เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งประธานอิสระของสภามนตรีคนปัจจุบันชาวอิหร่าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของสภามนตรี FAO ได้หมดวาระการปฏิบัติงาน 2 วาระ (4 ปี) จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นาย Luc Guyan ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานอิสระของสภามนตรี FAO คนใหม่

3. ความเห็นและข้อสังเกตจากผลการประชุม ดังนี้

3.1 การประชุมครั้งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือ G8 เนื่องจากไม่มีผู้แทนระดับสูงจากกลุ่ม G8 เข้าร่วมประชุม มีเพียงนายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่เข้าร่วมพิธีเปิดในฐานะประเทศเจ้าภาพเท่านั้น

3.2 จากการที่ FAO ได้ทำการปฏิรูปองค์การอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 รวมทั้งจัดทำกรอบยุทธศาสตร์และแผนงานและงบประมาณใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของประเทศสมาชิกให้มากยิ่งขึ้น ที่ประชุมสมัชชา FAO จึงได้เห็นชอบวงเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2553-2554 (2 ปี) สูงกว่าปี งบประมาณที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 8 อันเป็นผลให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ปีละ 2.5 - 3 ล้านบาท (ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน) จากเดิมที่จ่ายปีละ 30.65 ล้านบาท ในรอบปีงบประมาณ 2551-2552 เป็นปีละ 34 ล้านบาท ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 253-2554

3.3 ประเทศไทยแม้ว่าจำนวนผู้อดอยากหิวโหยจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม แต่จากข้อมูลของ FAO ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 พบว่ามีจำนวน 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งยังมีจำนวนมากพอสมควร ดังนั้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงด้านอาหารเช่นเดียวกัน เพราะยังมีประชากรส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถจะเข้าถึงอาหารได้และไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ ซึ่งกลุ่มผู้ที่อดอยากเหล่านี้จะมีอาชีพแตกต่างกันไปทั้งที่อยู่ในเมืองและในชนบทและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง จึงเห็นสมควรมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ