ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 14:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่ คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2553 วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2553 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กพข. ที่สำคัญ ดังนี้

1. ร่างกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว

1.1 ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอกรอบการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว ดังนี้

1.1.1 วัตถุประสงค์การจัดทำ (1) ทบทวนและกำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์การแข่งขันของประเทศไทยใหม่ให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ (2) ให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคการผลิตและบริการให้สู่ระดับสากล และ (3) ใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

1.1.2 ข้อเสนอแนะกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ) แบ่งออกเป็น การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพภาคเอกชน เทคโนโลยีและนวัตกรรม สุขภาพและสิ่งแวดล้อม คุณภาพมนุษย์ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ

1.2 ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1.2.1 ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของประเทศโดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งควรเน้นการปรับปรุงการบริหารจัดการภายในองค์การ (Internal Improvement) ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถปรับตัวและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากการเปิดเสรีการค้าและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่เคยชินกับการค้าภายในประเทศเท่านั้น จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นอย่างมาก

1.2.2 การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควรคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยควรนำแนวคิดการพัฒนาคลัสเตอร์พื้นที่ในลักษณะของกลุ่มจังหวัด และเชื่อมโยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่มูลค่า ดังเช่นตัวอย่างของการแบ่งกลุ่มคลัสเตอร์ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงในประเทศที่มี 8 กลุ่ม

1.2.3 กรอบเวลาการดำเนินงานควรมีความชัดเจน โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ ๆ เช่น การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเปิดเสรีในกรอบความตกลงต่าง ๆ และการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

1.2.4 การติดตามการพัฒนาประเทศควรกำกับดูแลใน 3 ดัชนีหลัก ประกอบด้วย (1) ดัชนีวัดความก้าวหน้าที่แท้จริงของประเทศ (National Progress Index) ซึ่ง สศช. ดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (2) ดัชนีอยู่ดีมีสุข และ (3) ดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

1.2.5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว ควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้ (1) การสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ (Value Creation) โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจ (2) การรวมกลุ่มวิสาหกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ (3) การดำเนินการเชิงรุกในเวทีโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (4) การพัฒนาและสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน เช่น กฎ ระเบียบ เป็นต้น และ (5) การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ

1.3 มอบหมายให้ สศช. ติดตามข้อมูลและผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้คณะกรรมการ กพข. ทราบ

1.4 ให้นำความเห็นของที่ประชุมไปประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการ กพข. ภายใน 3 เดือน

2. ลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ปี 2552

ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการศึกษาสถานภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ปี 2552 ดังนี้

2.1 WEF ได้ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันปี 2552 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 และจัดอันดับของประเทศไทยลดลง 2 อันดับ จากอันดับที่ 34 ในปี 2551 ลงมาเป็นอันดับที่ 36 ในปี 2552

2.2 IMD ได้ประกาศตัวเลขอันดับความสามารถของการแข่งขันปี 2552 เมื่อ 20 พฤษภาคม 2552 โดยได้จัดอันดับให้ไทยดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับ 27 ในปี 2551 ขึ้นมาเป็นอันดับ 26 ในปี 2552

2.3 ผลการวิเคราะห์อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลของ WEF และ IMD พบว่า จุดแข็ง ประกอบด้วย การดูแลและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในด้านระดับราคาและการจ้างงาน ส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ค่าแรงงาน ตลอดจนค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต่ำและสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ในขณะที่จุดอ่อน ประกอบด้วย ผลิตภาพการผลิตรวมทักษะ ความพร้อมทางเทคโนโลยี การลงทุนในการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการหารายได้ การออม และการลงทุนของประชาชน และภาคธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ

2.4 ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ผลการสำรวจของ IMD และ WEF จะประกาศเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับผลการสำรวจดังกล่าว ประกอบด้วย (1) แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยจะดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (ประปา ถนน และอื่นๆ) รวมทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่และ (2) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานควรมีการตั้งเป้าหมายพร้อมกรอบเวลาให้ชัดเจน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรม

3. ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย

ที่ประชุมรับทราบรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ดังนี้

3.1 ในปี 2553 ธนาคารโลกจัดอันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของธนาคารโลก โดยให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 155 ประเทศทั่วโลก ซึ่งลดลงจากอันดับที่ 31 ในปี 2550 โดยเกณฑ์ ชี้วัดจำนวน 4 ตัว ระบุว่าประเทศไทยมีคะแนนลดลงหรือเท่าเดิม ได้แก่ ความตรงต่อเวลาของบริการ สมรรถนะผู้ให้บริการ โลจิสติกส์ภายในประเทศ พิธีการศุลกากร และระบบโครงสร้างพื้นฐานตามลำดับ

3.2 สศช. พบว่าในปี 2551 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 18.6 ของจีดีพี แม้ว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยจะลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แต่สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี ยังเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ 17.0 — 19.0 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ในช่วงร้อยละ 8.0 — 10.0 เช่น ญี่ปุ่น ร้อยละ 8.3 ต่อจีดีพี (ปี 2545) และ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 9.4 ต่อจีดีพี (ปี 2551)

3.3 ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

3.3.1 ประเทศไทยสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ได้อีกมากและดำเนินการได้ทันที อาทิ ปรับปรุงกฎ ระเบียบ และการปรับปรุงระบบบริหารจัดการภายในขององค์กร โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยศึกษาจากตัวอย่างที่ดี (เช่น การบริหารสินค้าคงคลังเป็นต้น) ซึ่งภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ทันที

3.3.2 ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเฉพาะด้านการขนส่งทางราง โดยขณะนี้การก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางจากฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง จะแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการจาก ICD ลาดกระบัง - ท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.3.3 ควรมีการจัดอันดับความสำคัญของแผนงาน / โครงการที่ควรเร่งรัด มีการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการ กพข.ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการเป็นระยะๆ เพื่อให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม

3.3.4 ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะปริมาณประชากรโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในการนี้การขนส่งโดยระบบรางจะเป็นวิธีขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งหากจะพัฒนาระบบรางให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องเริ่มจากการปรับปรุงระบบบริหารจัดการองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ชัดเจน รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าข้ามแดน ณ จุดเดียวร่วมกัน(Single Stop Inspection) และศูนย์การให้บริการ ณ จุดเดียว (National Single Window System) โดยเฉพาะการบูรณาการระบบงานรับรองและออกใบอนุญาตนำเข้าส่งออกของสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น พืชผล ไม้ ปศุสัตว์ เป็นต้น

3.3.5 ในการพิจารณาต้นทุนโลจิสติกส์โดยใช้สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ต่อจีดีพี เปรียบเทียบกับต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาลักษณะ และประเภทของสินค้าที่มีมูลค่าแตกต่างกันซึ่งหากสินค้ามีมูลค่าสูงหรือหากฐานจีดีพี มีค่าสูง ก็จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวลดลง และอาจจะไม่ได้สะท้อนต้นทุนโลจิสติกส์ที่แท้จริง ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้ตัวเลขดังกล่าว และควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งที่สามารถช่วยให้ประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ของสินค้าแต่ละประเภท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ