คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยระยะ 2 เดือนแรก ปี 2553 (มกราคม — กุมภาพันธ์) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
1. การส่งออก
1.1 การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2553
1.1.1 การส่งออก กุมภาพันธ์ มีมูลค่า 14,403.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2552 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 470,718.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0
1.1.2 สินค้าส่งออก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.4 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 49.0
(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยเฉพาะ มันสำปะหลัง น้ำตาล อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้ และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ขณะที่ ข้าว ยางพารา และ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณส่งออกลดลง เนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่ง คือ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นทองคำที่ส่งออก ลดลงร้อยละ 88.5 โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอาง เลนส์ และเฟอร์นิเจอร์
1.1.3 ตลาดส่งออก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่
(1) ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ และขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 38.8 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน (5) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73.2 ขณะที่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และ สหรัฐฯ ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงร้อยละ 29.1 ,26.5 และ 19.3 ตามลำดับ
(2) ตลาดใหม่ ยังคงส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่หก เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกตลาด โดยตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ จีน อินโดจีนและพม่า อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก ส่วนตลาดที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยลดลงร้อยละ 17.1 และ 15.5 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกทองคำที่ลดลง โดยออสเตรเลีย ส่งออกทองคำลดลงร้อยละ 95.4 และ ฮ่องกง ส่งออกทองคำลดลงร้อยละ 90.1 ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญอื่น ๆ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น
1.2 การส่งออกในระยะ 2 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค. — ก.พ.)
1.2.1 การส่งออก 2553 การส่งออกมีมูลค่า 28,127.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.8 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 924,140.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7
1.2.2 สินค้าส่งออก สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 และสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3
(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล และสินค้าอาหาร ประเภทอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้และอาหารอื่น ๆ รวมทั้งไก่แช่แข็งและแปรรูปที่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 3.4 เนื่องจากราคาลดลงร้อยละ 10.4 จากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับจีน
(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอาง เลนส์ และ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ สิ่งทอ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เภสัช และ ของเล่น ส่วนสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ อัญมณี ลดลงร้อยละ 72.9 (เนื่องจากการส่งออกทองคำลดลงถึงร้อยละ 90.6 ขณะที่การส่งออกอัญมณีเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1) และ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง ลดลงร้อยละ 2.7 เป็นการลดลงของการส่งออกรองเท้าที่ลดลงถึงร้อยละ 13.4 เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตรองเท้ากีฬาไปเวียดนาม
1.2.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 ตลาดรองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.5
(1) ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน (5) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.9 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ขณะที่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 และ 17.4 ตามลำดับ
(2) ตลาดใหม่ ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่จีน อินโดจีนและพม่า อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก ตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ ฮ่องกง ตะวันออกกลาง แอฟริกา และแคนาดา ส่วนตลาดที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 3.4 เป็นการลดลงของทองคำที่ส่งออกลดลงร้อยละ 96.7
2. การนำเข้า
2.1 การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2553
2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 13,964.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.2 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 461,656.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.4
2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด ดังนี้
(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ มีมูลค่า 1,606.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.6 ในเชิงปริมาณมีจำนวน 20.6 ล้านบาร์เรล (735,244 บาร์เรลต่อวัน) ลดลงร้อยละ 10.0 สาเหตุจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น จากราคาเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เป็น 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งราคาปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 69.5
(2) สินค้าทุน นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะขยายการลงทุนในสินค้าคงทน การนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.7 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.2 เป็นการขยายตัวตามภาวะการส่งออก
(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.2 ตามภาวะการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.3 เคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 110.0 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 251.8 และ 145.2 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทองคำ ปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5,706.6 และ 8,169.4 ตามลำดับ
(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.2 เพิ่มขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาที่ถูกลง การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.2 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7
(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.5 การนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 185.4 ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 147.5 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 230.2
2.2 การนำเข้าในระยะ 2 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.พ.)
2.2.1 การนำเข้า มีมูลค่า 27,171.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.3 ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 902,923.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9
2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 สินค้าทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.4 และสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 ยานพาหนะและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.5 และอาวุธยุทธปัจจัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4
3. ดุลการค้า
3.1 ดุลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2553
ไทยเกินดุลการค้า 439.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 9,061.9 ล้านบาท
3.2 ดุลการค้าในระยะ 2 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.พ.)
ไทยเกินดุลการค้า 955.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 21.217.0 ล้านบาท
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
4.1 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะฟื้นตัวในทิศทางที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามการ ฟื้นตัวดังกล่าวยังคงเปราะบาง จึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
4.2 การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออก
4.3 ปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตามปัญหาภัยแล้งนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเสียหายของประเทศคู่แข่ง รวมทั้งทิศทางการเปลี่ยนแปลงความต้องการของประเทศคู่ค้า
4.4 สถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างจะเปราะบาง อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
4.5 แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต
4.6 การแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องและการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่เป็นผลดีต่อการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามจะเข้าแทรกแซงเป็นระยะ เพื่อไม่ให้บาทแข็งค่าเร็วเกินไป ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทช่วงนี้ สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค ส่วนในระยะต่อไป หากเศรษฐกิจในเอเชีย รวมถึงไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน จะเป็นแรงดึงดูดให้เงินไหลเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
4.7 จีนกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ ให้ปล่อยค่าเงินหยวนแข็งขึ้น เพราะขณะนี้เงินหยวนอ่อนค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในขณะนี้จีนยังคงปฏิเสธต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากจีนไม่สามารถต้านทานแรงกดดันดังกล่าวและปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นก็จะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทย เนื่องจากสินค้าจีนจะมีราคาสูงขึ้นในมุมมองของประเทศคู่ค้าของจีน แต่อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--