คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้างในบางส่วน
1. ผลกระทบต่อการค้าปลีกในบริเวณการชุมนุม ยอดความเสียหายเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่เพิ่มขึ้นของการชุมนุมในพื้นที่การชุมนุมเดิม โดยได้ประเมินความเสียหายวันละ 300 ล้านบาท และมีความเสียหายจากผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ชุมนุมใหม่รวมทั้งการปิดการเดินรถไฟฟ้าบางช่วง
2. ผลกระทบเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศ
สถานการณ์สินค้าในภาพรวม ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงจำหน่ายในราคาปกติ และปริมาณสินค้าพอเพียงต่อความต้องการ ไม่มีการกักตุนสินค้า ผู้บริโภคสามารถย้ายแหล่งไปซื้อหาจากแหล่งอื่นนอกเขตที่มีการชุมนุม นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าดำเนินการจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดจำหน่าย
3. ผลกระทบเศรษฐกิจการค้าต่างประเทศ
3.1 ผลกระทบต่อการส่งออก ในระยะสั้นการส่งออกของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมฯ โดยในช่วง มกราคม-มีนาคม 2553 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 44,380.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 31.6 ทั้งนี้ เป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปีและมีการส่งมอบสินค้าในช่วงปัจจุบัน แต่ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม
3.2 ผลกระทบต่อการค้าปลีกเพื่อการส่งออกในพื้นที่การชุมนุม เริ่มส่งผลกระทบทางลบแล้ว โดยจากการสอบถามภาคเอกชนในย่านการค้าประตูน้ำซึ่งเป็นแหล่งค้าปลีกที่ผู้ซื้อรายย่อยจากต่างประเทศนิยมมาซื้อสินค้าเพื่อนำกลับไปขายในประเทศตน พบว่าจำนวนผู้ซื้อต่างชาติที่เดินทางมาลดลงอย่างมาก
3.3 ผลกระทบต่อการจัดงานแสดงสินค้าและกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์
การชุมนุมฯ ได้ส่งผลกระทบสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อผู้แสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศของกรมส่งเสริมการส่งออกที่สำคัญ ดังนี้
3.3.1 ผู้แสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าลดลง โดยในงาน Bangkok International Gift Fair & Bangkok International Houseware Fair ที่จะจัดในช่วงระหว่างวันที่ 20-25 เมษายน 2553 มีจำนวนผู้แสดงสินค้าเข้าร่วม 598 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 9.53 และผู้เข้าร่วมงานมีเพียง 6,992 คน ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 45.71 โดยเป็นการลดลงในส่วนของชาวต่างชาติประมาณร้อยละ 24.26
3.3.2 จำเป็นต้องเลื่อนการจัดงาน THAIFEX — World of Food Asia 2010 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารขนาดใหญ่ที่กำหนดไว้ในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2553 ออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2553 แทน เนื่องจากหากจัดช่วงเดิม ผู้ร่วมแสดงสินค้าจะยกเลิกการเข้าร่วมถึงร้อยละ 60 หรือ 137 ราย และผู้เข้าร่วมงานที่ลงทะเบียนล่วงหน้ามีเพียง 1,901 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 71
ทั้งนี้ หากการชุมนุมยืดเยื้อต่อไป คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดงานอื่นทั้งในส่วนของงานแสดงสินค้านานาชาติของกรมส่งเสริมการส่งออก และการจัดงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่นของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดแผนงานไว้แล้ว ซึ่งบางงานได้ชลอการจัดงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงจากการชุมนุมออกไปบางส่วนแล้ว
3.3.3 ผลกระทบต่อโลจิสติกส์
จากการสอบถามภาคเอกชนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ล่าสุด พบว่า กระบวนการ โลจิสติกส์เพื่อการส่งออกในภาพรวม ขณะนี้ยังไม่ประสบปัญหา
4. มาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์
4.1 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์การค้าของกระทรวงฯ ที่เน้นเรื่องการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดมหกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ภาค การจัดงานธงฟ้า และการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้า จะยังคงทำให้มีความเชื่อมั่นในการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง
4.2 กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามตรวจสอบภาวะราคาและปริมาณสินค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทุกวัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือกักตุนสินค้าในช่วงสถานการณ์ไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ ยังเปิดสายด่วนรับการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมด้านราคา รวมทั้งใช้ศูนย์เฝ้าระวังฯ ของกระทรวง ในการติดตามปัญหาของผู้ประกอบการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา
4.3 การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไปจนถึงสิ้นเดือนมิย. 2553 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ด้วยดี
กระทรวงพาณิชย์ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถปรับแผนการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อทั้งนักธุรกิจไทยและต่างชาติ รวมทั้งผู้บริโภคได้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และจะรายงานความคืบหน้าต่างๆ ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2553--จบ--