ปฏิญญาการประชุมระดับผู้นำของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 16:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ปฏิญญาการประชุมระดับผู้นำของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์

และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 3

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการร่วมแถลงปฏิญญาของการประชุมระดับผู้นำของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 3 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขปฏิญญาฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงปฏิญญาฯ ฉบับดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. ประเทศตุรกีซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานของการประชุมและคาซัคสถานในฐานะประเทศก่อตั้งการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia - CICA) ได้เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของ CICA ครั้งที่ 3 ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน 2553 และร่วมแถลงปฏิญญาฯ ของการประชุมดังกล่าว

2. ในการประชุมคณะทำงานพิเศษและเจ้าหน้าที่อาวุโสของ CICA 2 ครั้งเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน 2553 คณะผู้แทนไทยได้ร่วมพิจารณาร่างปฏิญญาฯ โดยแจ้งความเห็นของไทยต่อร่างปฏิญญาฯ ตามที่ได้รับจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานพิเศษและเจ้าหน้าที่อาวุโสได้เห็นพ้องและให้บรรจุถ้อยคำตามที่ไทยเสนอในร่างปฏิญญาฯ อย่างไรก็ตามการพิจารณาร่างปฏิญญาฯ ยังไม่สามารถแล้วเสร็จ เนื่องจากบางประเทศสมาชิกยังมีความเห็นขัดแย้งกันในด้านการใช้ถ้อยคำและรายละเอียดบางประเด็นที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของ CICA จึงเห็นพ้องให้มีการพิจารณาร่างปฏิญญาฯ อีกครั้งในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของ CICA ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน 2553

3. ร่างปฏิญญาฯ มีเนื้อหาสำคัญใน 3 ส่วน คือ

3.1 อารัมภบท ซึ่งเน้นการตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ปัญหาและประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ตลอดจนบทบาทของสหประชาชาติในการประสานความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศ

3.2 สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยครอบคลุมประเด็นและปัญหาระหว่างประเทศและในภูมิภาคทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและสังคม

3.3 บทบาทของ CICA โดยแสดงท่าทีและข้อมติของประเทศสมาชิก CICA ต่อประเด็นปัญหาระหว่างประเทศและในภูมิภาค รวมทั้งความริเริ่มและกิจกรรมที่นานาประเทศจัดให้มีขึ้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประโยชน์ร่วมกัน

4. การร่วมแถลงปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์และท่าทีร่วมกันของประเทศสมาชิกของการประชุมดังกล่าว ในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ พลังงาน ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย ดังนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบใดจากปฏิญญาฯ ดังกล่าว หากแต่จะได้รับประโยชน์จากการได้รับความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้น การร่วมแถลงปฏิญญาฯ ของไทยกับประเทศสมาชิกของ CICA จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังจะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาชิก CICA และประเทศอื่น ๆ ได้เพิ่มพูนขึ้นด้วยซึ่งเป็นผลดีกับประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ