ยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 — 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 15:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณายุทธศาสตร์ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร พ.ศ. 2553 — 2556 เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับหน่วยงานใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป

2. อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานต่อไป

3. การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารนั้นให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่เสนอว่า จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ภาระงบประมาณ และศักยภาพของหน่วยงานที่จะดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำยุทธศาสตร์ความปลอดภัย ด้านอาหารตามมติคณะรัฐมนตรี (4 มีนาคม 2546) ที่ได้กำหนดให้ปี 2547 เป็นปีแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร โดยได้อนุมัติเงินงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 2,431.281 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามมาตรการและแผนปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายที่วางไว้ และจากการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาในระยะปี 2548 — 2551 ประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ซึ่งภาครัฐควรเพิ่มบทบาทในการให้ความรู้และการตัดสินใจใช้สารเคมีของเกษตรกร ควรมีการประชาสัมพันธ์รณรงค์และให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปฏิบัติตาม GAP (Good Agricultural Practice) ให้มากขึ้นและอย่างทั่วถึง และควรหาทางช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในการบริหารจัดการด้านคุณภาพสินค้าและการตรวจสอบรับรองของภาคเอกชน

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 — 2555 ขึ้น และยุทธศาสตร์ฯ ได้ผ่านการประชุมระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะทำงานฯ ได้นำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ฯ

3. คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณายุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 — 2555 แล้วมีมติเห็นชอบและให้ขยายระยะเวลาของแผนเพิ่มอีก 1 ปี เป็นแผน 4 ปี (พ.ศ. 2553 — 2556)

4. สาระสำคัญของยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร สรุปได้ดังนี้

4.1 วิสัยทัศน์ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและ ตลาดโลก (Standard and Safety for All)

4.2 วัตถุประสงค์ 4.2.1 เพื่อยกระดับด้านมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย 4.2.2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศอย่างยั่งยืนสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย 4.2.3 เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง 4.2.4 เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

4.3 เป้าหมาย 4.3.1 เพิ่มจำนวนฟาร์มมาตรฐานของเกษตรกรครอบคลุม พืช ประมง ปศุสัตว์ 4.3.2 เพิ่มจำนวนสถานประกอบการและโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้มาตรฐานครอบคลุมพืช ประมง ปศุสัตว์ 4.3.3 สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added and Value Creation) ความปลอดภัย และความหลากหลายให้กับผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน 4.3.4 สร้างแหล่งจำหน่ายสินค้า Q ให้เป็นเครือข่ายรองรับผลผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 4.3.5 สร้างกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพมาตรฐาน (Demand Driven) โดยเน้นผู้รับซื้อผลผลิตและกลุ่มบริโภคเป็นลำดับแรก 4.3.6 สร้างกระแสความรับผิดชอบตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มผู้ผลิตในการสร้างคุณภาพมาตรฐาน ในสินค้าที่ตนเองผลิต 4.3.7 สินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับด้านมาตรฐานความปลอดภัยจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ 4.3.8 สินค้าคุณภาพมีตลาดที่แน่นอน

4.4 กรอบยุทธศาสตร์ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ : ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาสินค้าเกษตรคุณภาพรายสินค้า พืช ประมง ปศุสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนผู้ผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดสินค้าเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐาน ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

4.5 ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปีงบประมาณ 2553 — 2556)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ