แผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปี 2553 — 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปี 2553 — 2555 และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปี 2553 — 2555 และให้จัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณรองรับแผนดังกล่าวไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการแพทย์ฉุกเฉินเสนอ

สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะดำเนินการในปี 2553 และปี 2554 เห็นควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับจัดสรรและเสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้ สพฉ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการแพทย์ฉุกเฉินรายงานว่า

1. จากผลการศึกษาวิจัยปัญหาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาทั้งในประเทศและต่างประเทศได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าภาวการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรหรือทำให้เกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะสำคัญจากภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากไม่ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในมูลค่าที่สูงโดยไม่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลในระดับชาติ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติต่อไปในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป

2. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มาตรา 15 บัญญัติให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดทำแผนหลักเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และมาตรา 11 บัญญัติให้ กพฉ. มีหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคอันเกิดจากการดำเนินงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยทุกคนได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างทั่วถึงเท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐานและทันท่วงที และผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปี 2553 — 2555 ไปสู่การปฏิบัติ กพฉ. จึงได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 มอบหมายให้ สพฉ.ดำเนินการจัดทำแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปี 2553 — 2555 สพฉ. จึงได้ดำเนินการประชุมระดมสมองในรูปแบบของคณะกรรมการและคณะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่าย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายครั้ง รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงาน องค์กรภาคีเครือข่ายและบุคคลภายนอกอย่างรอบด้านจนเป็น ที่ยอมรับ และ กพฉ.ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 เห็นชอบแผนดังกล่าว และให้สพฉ.เสนอแผนดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

3. สาระสำคัญของแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปี 2553 — 2555 สรุปได้ดังนี้

3.1 หลักการและเหตุผล การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นภาวะวิกฤตของชีวิตหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ทันการณ์ อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต อวัยวะหรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะสำคัญ จากข้อมูลสถิติสาธารณสุขในปี 2551 พบว่า การตายจากสาเหตุภายนอก (อุบัติเหตุ การได้รับพิษ ถูกทำร้าย) เป็นอัตรา 66.1 ต่อประชากรแสนคน และการตายจากโรคระบบไหลเวียนเลือดเป็นอัตรา 56.0 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นสาเหตุของการตายในลำดับที่ 2 และลำดับที่ 4 อีกทั้งจากการรวบรวมข้อมูลการใช้บริการห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ปีละประมาณ 12.0 ล้านครั้ง พบว่า หากมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินดังกล่าวได้ถึงประมาณร้อยละ 15-20 หรือประมาณปีละ 9,000-12,000 คน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยยังมีอัตราการตายจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินสูง เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและทันเวลา ทั้งนี้เพราะ “ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน” ยังไม่สามารถเข้าถึงครอบคลุมผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทุกพื้นที่ คุณภาพของปฏิบัติการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลยังไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งการรักษาพยาบาลในห้องฉุกเฉิน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินยังมีจำนวนน้อยมาก เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มีบริบทที่กว้างขวางครอบคลุมภารกิจ ตั้งแต่การปฏิบัติการฉุกเฉิน การศึกษา การฝึกอบรม การค้นคว้าและการวิจัยเกี่ยวกับการประเมิน การจัดการ การบำบัดรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน และการป้องกันการเจ็บป่วย จึงต้องมีปฏิสัมพันธ์และประสานการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเชื่อมโยงจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายประชาสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย มีการจัดบริการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่คุ้มครองประชากรในแต่ละกองทุน ดังนั้น หลักสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

3.2 วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

(1) วัตถุประสงค์ทั่วไป 1) ป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นฉุกเฉินให้เกิดน้อยที่สุด 2) ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานจนพ้นภาวะฉุกเฉินหรือได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะอย่างทันท่วงที ทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ

(2) เป้าหมายทั่วไป อัตราป่วยตาย (case fatality rate) เหตุการณ์บาดเจ็บจากสาเหตุภายนอกในทุกอายุ และโรคระบบไหลเวียนเลือด ในปี 2555 ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของอัตราป่วยตายปี 2550

(3) วัตถุประสงค์เฉพาะ 1) เพื่อสร้างและจัดการความรู้รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อรองรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย การบริหารจัดการและการปฏิบัติการที่เหมาะสม 2) เพื่อพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีงบประมาณเพียงพอและยั่งยืน โดยมีกลไกการจ่ายเงิน และการบริหารจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพ 3) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 4) เพื่อพัฒนาความสามารถของประชาชนในการร้องขอและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม 5) เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้ครอบคลุมและทั่วถึง โดยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน จนถึงได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะทันท่วงที อย่างทั่วถึง 6) เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะห้องฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตลอดจนมีความชำนาญและประสบการณ์อยู่ให้บริการประจำตลอดเวลา 7) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้มแข็งและยั่งยืน 8) เพื่อส่งเสริมการมีบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้มแข็งและยั่งยืน

3.3 องค์ประกอบและยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

(1) องค์ประกอบ 1) การพัฒนาทรัพยากร 2) กลไกการจัดการทางการเงิน 3) การพัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน 4) การจัดองค์กรในการให้บริการ 5) กลไกการจัดการและอภิบาลระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

(2) ยุทธศาสตร์ 1) ยุทธศาสตร์การสร้างและจัดการความรู้และการพัฒนาะระบบสารสนเทศ 2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการเงินการคลัง 3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน 4) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วม 5) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้าง กลไกการจัดการและการอภิบาล

3.4 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการแผนจึงกำหนดให้มี กพฉ.และ สพฉ. เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี 2553 — 2555 ไปสู่การปฏิบัติ โดยการประสานบูรณาการหน่วยงาน องค์กร ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำ “แผนปฏิบัติการ” ที่สอดคล้องกับแผนหลักฯ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบประกอบด้วย ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและเครือข่ายประชาสังคม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ